Wednesday, October 7, 2015

8 พฤติกรรมเพื่อสุขภาพดี แต่เอ๊ะ...มีเอี่ยวชวนน้ำหนักขึ้น !





พฤติกรรมเพื่อสุขภาพ ที่หลายคนยังเข้าใจแบบผิด ๆ จนแทนที่จะได้ความเฮลธ์ตี้ กับมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นพรวด ๆ    

          การดูแลสุขภาพ ด้วย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และการปรับไลฟสไตล์ให้เข้าวิถีการมีสุขภาพดี จะช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พร้อมทั้งรูปร่างที่ดูแข็งแกร่งไร้ไขมันส่วนเกินได้จริง แต่หากคุณเผลอทำพฤติกรรมเพื่อสุขภาพแบบผิด ๆ ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและความอ้วนที่มาเยือนแทนก็ได้ นะ อย่างพฤติกรรมเพื่อสุขภาพ 8 อย่างนี้เป็นต้น

1. ลดแป้ง เลือกกินแต่ไขมันต่ำ

        หลายคนเลือกที่จะลดน้ำหนักด้วยการลดหรืองดกินแป้งไปเลย ทั้งยังเลือกรับประทานแต่อาหารไขมันต่ำ ซึ่งก็ดูเฮลธ์ตี้ดีอยู่หรอก ทว่าสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ร่างกายต้องการนำไป ใช้เป็นพลังงาน ไม่ต่างจากไขมันที่ร่างกายก็จำเป็นต้องได้รับเช่นกัน ซึ่งหากร่างกายได้รับสารอาหารทั้งสองอย่างนี้ไม่เพียงพอเมื่อไร ท้องก็จะเริ่มงอแงอยากกินอาหารมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้รู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ อีกทั้งคำว่าไขมันต่ำบนฉลากผลิตภัณฑ์ ยังอาจทำให้ใครบางคนเผลอใจกินอาหารประเภทไขมันต่ำเพลินจนเกินลิมิตได้ด้วยนะ

2. ซื้ออาหารเพื่อสุขภาพโดยไม่มีความยับยั้งชั่งใจ

        ผลการศึกษาใน Journal of Marketing Research พบว่า ยิ่งฉลากผลิตภัณฑ์แสดงจุดเด่นด้านสุขภาพมากเท่าไร ยิ่งจูงใจให้คนหยิบผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ใส่ตะกร้าช้อปปิ้งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากคำว่าไขมันต่ำ ออแกนิกส์ ปราศจากไขมัน ปราศจากสารปรุงแต่งหรือโซเดียมเหล่านี้ จะทำให้ผู้บริโภคชะล่าใจ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโดยไม่ฉุกคิด และเพลิดเพลินกับการกินโดยที่ไม่ใส่ใจกับการออกกำลังกายเท่าที่ควร เพราะคิดว่าอาหารที่กินเข้าไปไม่ส่งผลร้ายกับสุขภาพเท่าไรอยู่แล้ว ทั้งที่อาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้ก็มีแคลอรีแอบแฝง และสามารถเพิ่มน้ำหนักได้เช่นกัน

3. นับแคลอรี

        เชื่อไหมว่าวิธีลดน้ำหนักด้วยการนับแคลอรีทำให้คนลดน้ำหนักประสบความล้มเหลว มาไม่ต่ำกว่า 95% เนื่องจากร่างกายที่ได้รับพลังงานไม่เพียงพอจะเข้าสู่โหมดหิวโหย ซึ่งหากยังห้ามใจไม่กินเกินแคลอรีที่กำหนดอยู่อีก ระบบการเผาผลาญจะเริ่มอ่อนล้า และอาจเบิร์นกล้ามเนื้อแทนการเบิร์นไขมัน

        อีกทั้งเมื่อร่างกายรู้สึกอ่อนล้าเนื่องจากได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะชักนำให้คุณอยากกินอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และกินอาหารชนิดอื่น ๆ ได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว

4. พยายามกินอาหารเพื่อสุขภาพ

        อาหารเพื่อสุขภาพมีรสชาติไม่เย้ายวนเท่าอาหารพาอ้วนแน่ ๆ ซึ่งจุดด้อยข้อนี้ของอาหารเพื่อสุขภาพอาจทำให้หลายคนพยายามกินมันเข้าไปโดย ที่ต้องคอยย้ำกับตัวเองว่าอาหารเหล่านี้ดีต่อร่างกายนะ เราต้องกินเข้าไปเยอะ ๆ แต่พอนานวันเข้าก็ชักจะเริ่มเบื่อและอยากออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งเมื่อหลุดจากสายรักสุขภาพขึ้นมาเมื่อไร คราวนี้ก็จะหันเหมากินอาหารปกติด้วยความเก็บกด ไม่ต่างอะไรจากการโยโย่เลยทีเดียว

5. กินเมนูเพื่อสุขภาพเดิม ๆ ซ้ำไปวนมา

        เช้ากินโฮลวีท ข้าวโอ๊ต นม กลางวันกินผักต้ม น้ำพริก ปลานึ่ง เกาเหลา เย็นกินสลัดหรือโยเกิร์ต ชีวิตประจำวันไม่หลุดไปจากเมนูเหล่านี้เลยสักนิด สถาบันเทคโนโลยีอาหาร สหรัฐอเมริกาก็เตือนว่า การกินเมนูเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา จะทำให้แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ชะงักการเจริญเติบโตไปด้วย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบให้การขับถ่ายผิดปกติ ระบบย่อยอาหารรวนเร รวมทั้งความหิวและระดับน้ำตาลในเลือดก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่สมดุล ชักนำให้เราอยากใช้ชีวิตในสไตล์กินอะไรไม่เลือกหน้ามากยิ่งขึ้น อ้วนได้ง่ายขึ้นอย่างเห็น ๆ

6. พกขวดน้ำดื่มไว้จิบตลอดเวลา

        การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งที่คนรักสุขภาพ และทุกคนควรทำ ทว่าผลการศึกษาจากวารสาร PLoS ONE แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกจะดีกว่า เนื่องจากในพลาสติกจะมีสาร BPA (Bisphenol) ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายสะสมไขมันมากขึ้น โดยเฉพาะหากขวดน้ำพลาสติกนั้นตากแดด ความร้อนจากแสงแดดจะละลายสาร BPA ให้ปนเปื้อนมาในน้ำได้สะดวกกว่าเดิม ดังนั้นพยายามเปลี่ยนมาใช้ขวดน้ำชนิดสเตนเลสหรือวัสดุอื่นที่ไม่ใช่พลาสติกจะดีกว่า

7. ออกกำลังกายโดยไม่ปรับสไตล์การกิน

        การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเลยก็อาจช่วย ให้คุณน้ำหนักลดลงได้บ้าง ทว่ายิ่งออกกำลังกายเหนื่อย ๆ เท่าไรจะไม่ยิ่งกินมากขึ้นอย่างนั้นเหรอ ? แล้วอย่างนี้ต่อให้ออกกำลังกายจนเหงื่อหมดตัวก็อาจไม่ช่วยให้ตัวเลขบนตาชั่ง ลดระดับลงได้เลยด้วยนะ ดังนั้นหากอยากลดน้ำหนักจริง ๆ ควรทำทั้งออกกำลังและควบคุมอาหารไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งก็จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจกว่านะคะ

8. ดื่มน้ำผลไม้ และกินผลไม้เป็นอาหารว่าง

        แม้น้ำผลไม้จะมีทั้งวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระอยู่บางส่วน ทว่าน้ำผลไม้ก็พกแคลอรีมาไม่ต่ำกว่าน้ำอัดลมเลยนะคะ โดยเฉพาะพลังงานที่ได้จากน้ำตาลในน้ำผลไม้ อีกทั้งการรับประทานผลไม้ไม่ถูกหลัก ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะผลไม้พาอ้วนอย่างทุเรียน กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ขนุน มะม่วงสุก เงาะ ลำไย ลองกอง ลางสาด และละมุด เป็นต้น

        หมดข้อสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะว่า ทำไมใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพแล้วยังน้ำหนักไม่ลดลง แถมรู้สึกว่าอ้วนขึ้นอีก ก็นี่แหละคำตอบ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Prevention, realbuzz.com
http://health.kapook.com/view131200.html

No comments:

Post a Comment