Saturday, November 10, 2012

วิธีชนะใจลูกวัยรุ่น



วัยรุ่นอาจเป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความยุ่งยากสับสนทั้งต่อพ่อแม่และต่อวัยรุ่นเอง บางคนมองว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้ทดสอบสมรรถภาพ ในการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ว่าจะสามารถไว้วางใจลูกที่พยายามทำตัวห่างพ่อแม่ไปได้หรือไม่ ว่าจะซึมซับคำสอนคำสั่งได้เพียงใด ด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยความกังวลห่วงใย เพราะความประมาทเพียงชั่ววูบหรือความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจทำลายอนาคตและชีวิตของวัยรุ่นได้ตลอดไป

พ่อแม่ที่ป่วยเป็นโรคจิต โรคประสาท มีปมขัดแย้งในจิตใจ (Neurotic Conflicts) มีบุคลิกภาพ บกพร่องขาดความรับผิดชอบ เช่น ติดสุราขนาดหนัก เป็นต้น จะมีอิทธิพลในด้านลบหรือด้านร้ายอย่างยิ่งต่อลูกวัยรุ่น

พ่อแม่บางคนไม่ยอมเข้าใจ ธรรมชาติหรือความต้องการของลูก พยายามปลุกปั้น ผลักดันให้ลูกเป็นไปตามความต้องการหรือความทะเยอทะยานของตน แต่เกินความสามารถหรือศักยภาพของลูก โดยไม่ใส่ใจกับความต้องการของเขา ไม่เข้าใจว่าช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงระยะที่เด็กมีความคิดจินตนาการ และมีความใฝ่หาอิสระเสรีภาพเพิ่มมากต่างจากวัยเด็ก ทำให้เขาทนไม่ได้กับการถูกจำกัดขอบเขต ความคับแค้นใจจึงปรากฏออกมาในรูปอารมณ์ พฤติกรรมหรือการปรับตัวที่ผิดปกติ ข้อแตกต่างในความคิดหรือช่องว่างระหว่างวัย จึงเกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่น

ช่องว่างระหว่างวัย ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น อาจทำให้ผู้ปกครองใช้วิธีการที่ผิดๆกับวัยรุ่นได้ เช่น ผู้ปกครองท่านหนึ่งเข้มงวดกับหลานชายวัยรุ่นมากขนาดปิดประตูบ้านแน่นหนาไม่ ยอมให้เข้าบ้านหากเลยเวลาหกโมงเย็น การกระทำแบบนี้เป็นการผลักไสหรือเป็นข้ออ้างให้วัยรุ่นไปหัวหกก้นขวิดนอก บ้านกับเพื่อนๆ ร่วมวงดื่มสุราในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน ซึ่งที่จริงน่าจะใช้วิธีคุยกันดีๆ รับฟังเหตุผลกันมากกว่า ตรงกันข้ามหากผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกวัยรุ่น จะเข้าใจลูกและมั่นใจว่าเขาจะประพฤติตัวดี เมื่อคิดเช่นนี้ก็จะไว้วางใจให้อิสระแก่ลูกได้มาก ดังเช่น วัยรุ่นหญิงคนหนึ่งเลิกเรียนตอนเย็นแต่กลับบ้าน 2-3 ทุ่มเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัดแต่ทางบ้านไม่รู้สึกกังวล เท่าใดนัก เพราะมีความมั่นใจในตัวลูกสาว

นอกจากนั้น บางครั้งความห่วงใย ความกังวลที่พ่อแม่แสดงออกจนมากเกินไป มีต้นตอมากจากความระแวงว่าลูกจะทำความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นกับตนเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นเช่นกัน แม่คนหนึ่งเคยตั้งครรภ์ขณะเป็นนักเรียน ทำให้ต้องออกจากการเรียนกลางคัน มีความกังวลห่วงใยลูกสาววัยรุ่นอย่างมากว่าจะทำผิดพลาดเช่นเดียวกับตน จึงพยายามควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดและระแวงไปล่วงหน้า แม้เพียงเห็นลูกสาวมีอาการไม่สบายคลื่นไส้ อาเจียน เกรงว่าลูกสาวซึ่งเป็นวัยรุ่นที่วางตัวดีมีความรับผิดชอบจะตั้งครรภ์ แล้วไปพยายามคาดคั้นกับลูกสาวว่าท้อง ทำให้ลูกสาวกลัดกลุ้มใจมากเพราะรู้สึกว่าแม่คอยจับผิดอยู่ตลอด ในกรณีเช่นนี้วัยรุ่นบางคนถึงกับทำตัวประชดให้เป็นไปตามความคิดหรือคำพูดของ แม่ที่ว่าแกมันใจแตก เดี๋ยวก็คงได้ลูกไม่มีพ่อเสียเลย

บทสรุป

ดังนั้น วิธีที่สำคัญที่สุดที่จะชนะใจลูกวัยรุ่นได้ คือการ รับฟังเหตุผล ความรู้สึกและความต้องการของเขา ให้โอกาสเขาพูดระบายให้มากที่สุด มิใช่เป็นแค่ฝ่ายพูดบังคับให้เขาฟังท่าเดียว วัยรุ่นจะยอมรับไม่ได้เช่นกัน พ่อแม่ควรพูดระบายความรู้สึกของตนเอง ให้เป็นแบบอย่างของการดับความโกรธความคับแค้นใจที่เหมาะสม เช่น แม่ไม่สบายใจนะที่เห็นลูกหงุดหงิด แม่เป็นห่วง บอกแม่ได้ไหม” “แม่โกรธนะที่ลูก (ทำสิ่งที่ผิด) แม่ขอร้อง…”

ปัญหาใดๆ ก็ตามระหว่างพ่อแม่และวัยรุ่นจะสามารถแก้ไขได้โดยการพูดคุยกัน รับฟังกันเพื่อปรับความเข้าใจกัน และประนีประนอมกันดังคำฝรั่งที่ว่า “Hearing Is Healing” (ยกเว้นในรายที่เป็นโรคจิตมีพฤติกรรมแยกตัว และก้าวร้าวทำร้ายสมาชิกครอบครัว พูดอย่างไรจะไม่ได้ผล ต้องรักษาด้วยยาหรือไฟฟ้า ควรส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล) จะได้ไม่ถูกลูกวัยรุ่นต่อว่า ดังที่ผู้เขียนเคยได้ยินวัยรุ่นอเมริกันพูดใส่หน้าพ่อแม่ว่า “I didn’t ask to be born” (หนูไม่ได้ขอมาเกิดซะหน่อย) แสบเข้าไส้เลยนะคะ

ที่มา : รศ.พญ. ดวงใจ กสานติกุล / http://www.formumandme.com





No comments:

Post a Comment