Wednesday, January 30, 2013

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมองของวัยรุ่น


การศึกษาสมองเด็กและวัยรุ่นโดยเทคโนโลยีล่าสุด (Functional magnetic resonance imaging- fMRI) พบว่า กว่าที่สมองของคนเราจะเติบโตเต็มที่ จะต้องมีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป สมองของวัยรุ่นไม่เพียงยังไม่เติบโตเต็มที่ แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

เด็กอายุ 6 ขวบมีขนาดสมองประมาณ 90-95 % ของผู้ใหญ่ ช่วงเวลาจากวัย 6 ถึง 12 ปี (เฉลี่ย ผู้หญิง 11 ปี ผู้ชาย 12 1/2 ปี) จะเป็นการแตกกิ่งก้านสาขาที่เชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน หลังจากนั้น คือ ในช่วงวัยรุ่น จะเป็นช่วงเวลาของการตัดแต่งเส้นใยประสาท ส่วนที่ไม่ใช้จะสลายตัวไป ส่วนที่ใช้จะมีเส้นใยที่หนาขึ้น ส่งผ่านข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น (Use-it-or-lose-it principle)

การใช้เวลาและประสบการณ์ชีวิตจึงส่งผลต่อโครงสร้างของสมอง และเป็นตัวกำหนดว่าสมองของวัยรุ่นแต่ละคน จะพัฒนาไปอย่างไร เช่นในการศึกษาผู้ที่ฝึกฝนเปียโน พบสมองส่วนที่ใช้ในการควบคุมนิ้วมือมีเส้นใยที่หนาขึ้น คนขับรถแท็กซี่ในนครลอนดอน ซึ่งต้องจำเส้นทางของถนนสายต่าง ๆ มีสมองส่วนที่ควบคุมความจำใหญ่ขึ้น
 
การที่วัยรุ่นชอบทำอะไรแปลกใหม่อยู่เสมอ ยังเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนและโครงสร้างสมอง ทำให้มีความต้องการหาสิ่งเร้าใจ แปลกใหม่ ซึ่งในเชิงวิวัฒนาการน่าจะเป็นการช่วยให้มนุษย์เราก้าวออกไปสำรวจโลกกว้าง เพี่อค้นหาเส้นทางใหม่ ๆ สำหรับตนเอง แต่ในโลกปัจจุบันที่แวดล้อมไปด้วยยาเสพติด กลุ่มมิจฉาชีพ สิ่งยั่วยุ ทำให้วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหา

สมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการแสวงหาสิ่งเร้าใหม่ ๆ เติบโตเต็มที่ ขณะที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจยังไม่พัฒนาดีพอ ทำให้วัยรุ่นทำเรื่องเสี่ยง โดยไม่ค่อยคำนึงถึงผลตามมา เปรียบเสมือนรถยนต์ที่ติดเครื่องพร้อมวิ่งแล้ว แต่ไม่มีคนขับที่มีประสบการณ์คอยควบคุมทิศทาง

การศึกษาเปรียบเทียบการทำงานของสมองระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ พบว่า ขณะตัดสินใจ วัยรุ่นจะใช้สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า ขณะที่ผู้ใหญ่จะใช้สมองส่วนที่ทำหน้าที่คิดตัดสินใจมากกว่าวัยรุ่น ยังมีแนวโน้มจะอ่านสัญญาณทางอารมณ์ผิด เช่น เมื่อทดสอบให้อ่านอารมณ์ของคนในภาพที่กำลังมีความกลัว ก็จะตอบว่ากำลังมีอารมณ์โกรธ สับสน หรือเศร้าเสียใจ วัยรุ่นจึงอาจเข้าใจคนรอบข้างผิดได้ง่าย โดยเข้าใจว่าคนอื่นโกรธหรือไม่พอใจตน ซึ่งทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อสมองส่วนคิดตัดสินใจมีการพัฒนาเติบโตเต็มที่ หลังอายุ 20 ปี

นอกจากนี้ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ยังทำให้วัยรุ่นมีแนวโน้มทำในเรื่องที่เสี่ยงหรือเป็นอันตรายได้มากขึ้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ค่อย ๆ หายไปในผู้ใหญ่
 
สมองของวัยรุ่นยังตอบสนองต่อฤทธิ์กระตุ้นและฤทธิ์เสพติดของยาเสพติดและสุรามากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เสี่ยงต่อการเสพติดมากขึ้น

ในเรื่องของแรงจูงใจ เช่น การรู้จักรับผิดชอบทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ พบว่าสมองส่วนควบคุมแรงจูงใจของวัยรุ่นทำงานน้อยกว่าในผู้ใหญ่ วัยรุ่นจึงมีแนวโน้มเลือกทำเฉพาะสิ่งที่ให้ความเร้าใจมากพอ หรือทำในสิ่งที่ไม่ต้องลงแรงมาก การชักชวนให้วัยรุ่นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงต้องเน้นให้เห็นถึงประโยชน์เฉพาะหน้าที่จะได้ มากกว่าจะพูดถึงผลที่จะได้รับในระยะยาว

ในเรื่องการนอนหลับ พบว่าระบบการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการนอน (Melatonin) ของวัยรุ่นมีการทำงานที่ช้ากว่าในเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ร่างกายจึงเข้าสู่ขั้นตอนการนอนหลับช้ากว่าวัยอื่น ๆ

โรคทางจิตเวช ที่พบในวัยรุ่น เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) น่าจะเป็นผลของความผิดปกติในการฝ่อของเส้นใยประสาท

ความรู้ทั้งหมดนี้ แม้จะใกล้เคียงกับสิ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้อยู่แล้ว แต่น่าจะมีผลต่อการเลี้ยงดู การจัดประสบการณ์ชีวิต ท่าทีของผู้ใหญ่ในสังคมต่อวัยรุ่น ตลอดจนระบบกฎหมาย เช่น มีผู้เสนอว่า บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี น่าจะมีกระบวนการพิจารณาคดีที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ และไม่ควรมีโทษในขั้นประหารชีวิต คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ ได้แก่

1. การรู้จักวิธีเลี้ยงดูที่ถูกต้อง เป็นแบบอย่างที่ดี ยังมีความสำคัญที่จะช่วยลูกวัยรุ่นหลีกเลี่ยงจากปัญหา เรียนและเติบโตได้ดี

2 อย่ากลัวที่จะมอบความรักและคำชมอย่างเต็มที่ แต่อย่าทำให้เขารู้สึกว่าถูกทำเหมือนยังเป็นเด็ก โดยเฉพาะต่อหน้าเพื่อนฝูงของเขา

3. แม้ลูกจะโตเป็นวัยรุ่น แต่ยังคงต้องการผู้ใหญ่ช่วยดูแล พ่อแม่ควรเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน ทำความรู้จักเพื่อน ๆ ของลูก และมีเวลาให้กัน

4. ปรับวิธีเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับวัย เพราะความสามารถในการคิดและพึ่งตนเองจะเพิ่มขึ้นตามวัย

5. สิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่มากที่สุดคือความรัก รองลงมาคือ การช่วยจัดวางระบบชีวิตให้ วัยรุ่นต้องการกฎเกณฑ์และเส้นแบ่งว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ เพียงแต่พ่อแม่ต้องรู้จักปรับเกณฑ์ต่าง ๆ ตามระดับความพร้อมและความสามารถของลูก

6. ให้ความเป็นส่วนตัว ให้ลูกได้คิด พัฒนาและพึ่งตนเองมากขึ้น หลีกเลี่ยงการเข้าไปจัดการในเรื่องรายละเอียดของชีวิตลูก

7. พ่อแม่ที่ดีจะรู้จักสื่อความคาดหวังที่เหมาะสมต่อลูก กฎเกณฑ์ต่าง ๆ และการตัดสินใจของพ่อแม่ ควรชัดเจนและเหมาะสม


แหล่งที่มา   http://pay-attenion-to.blogspot.com
                   จากนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2004


No comments:

Post a Comment