Monday, September 14, 2015

มะเฟืองผลไม้ควบคุมน้ำหนัก




มะเฟือง
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Averrhoa carambola L.  ,วงศ์ Oxalidaceae 
 
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Carambola, Star Fruit หรือ Star Apple

มะเฟือง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีทั้งลักษณะตั้งตรงและกึ่งเลื้อย เป็นไม้เนื้ออ่อน โตช้า สูงไม่เกิน 30 ฟุต แกนกลางมีไส้คล้ายฟองน้ำสีแดงอ่อน ลำต้นสีน้ำตาล เปลือกลำต้นไม่เรียบ
 
ใบ เป็น ใบประกอบ รูปใบมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น ใบด้านบนเรียบด้านล่างมีขนบาง ใบย่อยที่ปลายก้านมักใหญ่ ใบเรียงตัวแบบเกลียว

ดอก มะเฟือง ออกตามซอกใบเป็นช่อสั้นๆ มีสีชมพูอ่อนไปจนถึงเกือบแดงตรงกลางหลอดดอกมีสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบโค้งงอ โคนกลีบดอกจะมีสีเข้มกว่าปลายกลีบ ดอกมีกลิ่นหอม

ผล อวบ น้ำมีรูปร่างแปลก ยาวได้ถึง 5 นิ้ว ผลหยักเว้าเป็นร่องลึก 5 ร่อง ผลอ่อนสีเขียว สุกแล้วมีสีเหลืองใส เปลือกผลบางเรียบมันรับประทานได้ เวลาหั่นขวางจะเป็นรูปดาวสวยงาม  มีเมล็ดรีสีน้ำตาล สามารถกินได้ทั้งผลสุกและผลอ่อน
 
เชื่อว่ามะเฟืองมีถิ่นกำเนิดแถบศรีลังกาและมะละกา เป็นไม้พื้นเมืองแถบอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา นิยมปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของเอเชียตะวันออก

นอกจากนี้ ยังพบมะเฟืองปลูกที่สาธารณรัฐโดมินิกัน บราซิล เปรู กานา กายานา ซามัว ตองกา ไต้หวัน French Polynesia คอสตาริกา และ ออสเตรเลีย
 
ที่ฟลอริดาตอนใต้และฮาวาย สหรัฐอเมริกา มีแหล่งเพาะปลูกมะเฟืองเชิงพาณิชย์
พบว่าประเทศมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกมะเฟืองรายใหญ่ที่สุดของโลก

สายพันธุ์มะเฟือง
ต้นมะเฟืองมีรูปทรงสวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ หรือปลูกเป็นไม้เก็บผลก็ดี

ประเทศไทยปลูกมะเฟืองกันหลายสายพันธุ์ ได้แก่
* มะเฟืองเปรี้ยว เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศไทย มีทั้งชนิดผลใหญ่และเล็ก
* มะเฟืองพันธุ์ไต้หวัน ขนาดผลใหญ่พอประมาณ กลีบผลบาง ขอบบิด มีรสหวาน
* มะเฟืองพันธุ์กวางตุ้ง มีสีขาวนวล ขอบกลีบผลสีเขียว มีรสหวาน
* มะเฟืองพันธุ์มาเลเซีย ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อฉ่ำน้ำ น้ำหนักมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว
 
มะเฟืองสามารถกินเป็นผลไม้ก็ได้ ปรุงเป็นกับข้าวก็ดี
 
การกินมะเฟืองของคนไทยมีหลายรูปแบบ เช่น กินผลมะเฟืองสด ใช้เป็นเครื่องเคียงอาหาร (เครื่องเคียงแหนมเนือง) หรือจะแปรรูปเป็นน้ำผลไม้

ใบอ่อน ของมะเฟืองกินเป็นผักได้
 
ที่ต่างประเทศนำมะเฟืองมาปรุงอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด พบทั้งเป็นส่วนประกอบในสลัดกุ้งก้ามกราม เป็นเครื่องเคียงอาหารเนื้อสัตว์ (ปลา หมู ไก่) ใช้แทนสับปะรดในอาหารจำพวกผัดผัก และเมนูอาหารอบ ปรุงผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น ทำแยม ทาร์ตและเค้ก และพบในเครื่องดื่มต่างๆ

สรรพคุณทางยา
ภูมิปัญญาไทยมีการใช้มะเฟืองสืบทอดกันมา ดังนี้

ผลมะเฟือง ดับกระหาย แก้ร้อนใน ลดความร้อนภายในร่างกาย บรรเทาอาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับเสมหะ ใช้ขจัดรังแค บำรุงเส้นผม ช่วยให้เลือดแข็งตัวง่าย ช่วยระงับความฟุ้งซ่าน ช่วยให้หลับง่ายขึ้น และบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน

ใบและราก ปรุงกินเป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ ใบสดตำใช้พอกตุ่มอีสุกอีใสและกลากเกลื้อน
ใบต้มน้ำอาบแก้ตุ่มคัน

ใบอ่อนและรากมะพร้าว ผสมรวมกันต้มดื่มแก้ไข้หวัดใหญ่

แก่นและราก ต้มกินแก้ท้องร่วง แก้เส้นเอ็นอักเสบ

ข้อควรระวัง

มะเฟือง มีกรดออกซาลิกสูง ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตไม่ควรกินมะเฟืองเพราะจะเกิดอาการข้างเคียงและเจ็บป่วยมากได้ นอกจากนี้แล้วมะเฟืองมีฤทธิ์ต้านการทำงานของเอนไซม์ไซโทโครม พี 450 ซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดยาหลายชนิด เชื่อว่าโพรไซยาไนดินบี 1 และบี 2 และ/หรือโมเลกุล 3 ซึ่งประกอบด้วยคาทีชินและ/หรืออีพิคาทีชินเป็นสารที่ออกฤทธิ์ดังกล่าว ผู้ป่วยที่กินยาลดไขมันและยาคลายเครียดตามคำแนะนำแพทย์จึงไม่ควรบริโภคมะเฟือง

ประโยชน์ต่อสุขภาพ

มะเฟือง มีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชันสูง มีสารกลุ่มโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมาก สารสำคัญในกลุ่มนี้ที่พบในมะเฟือง ได้แก่ กรดแอสคอบิก อีพิคาทีชิน และกรดแกลลิกในรูปของแกลโลแทนนิน

สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้าน ออกซิเดชันจากมะเฟือง คือ โพรแอนโทไซยาไนดินในรูปของโมเลกุลคู่ โมเลกุล 3 4 5  (dimers, trimers, tetramers and pentamers) ของคาทีชินหรืออีพิคาทีชิน
 
นอก จากนี้ มะเฟืองมีวิตามินซีมาก บรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน มะเฟืองมีปริมาณพลังงาน น้ำตาลและเกลือโซเดียมต่ำ เหมาะกับการกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก คุมน้ำตาลในเลือด หรือลดความอ้วน มีกรดผลไม้มาก ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางชำระล้างผิวกายและป้องกันการเกิดสิว

ฤทธิ์ลดน้ำตาลและสร้างไกลโคเจน
 
งานวิจัยจากประเทศบราซิลในปีนี้พบว่าอนุพันธ์กลูโคไพแรนโนไซด์ของเอพิจีนิน (apigenin-6-C-beta-l-fucopyranoside) ที่ได้จากผลมะเฟืองมีผลทันทีในการลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ไกลโคไซด์ดังกล่าวกระตุ้นการหลั่งอินซูลินชนิดที่ถูกกระตุ้นโดยกลูโคส และมีผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ soleus

ผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อถูกยับยั้ง เมื่อมีการใช้สารยับยั้งการส่งผ่านสัญญาณสู่อินซูลิน (insulin signal transduction inhibitor) ฟลาโวนอยด์จากมะเฟืองจึงมีฤทธิ์เป็นทั้ง antihyperglycemic (insulin secretion) และ insulinomimetic (glycogen synthesis)

เส้นใยอาหารจากมะเฟือง

งานวิจัยจากไต้หวันพบว่าเนื้อผลของมะเฟืองมีปริมาณเส้นใยไม่ละลายน้ำสูง ส่วนใหญ่เป็นเพ็กทินและเฮมิเซลลูโลส เส้นใยเหล่านี้มีค่าทางเคมีและกายภาพ ได้แก่ ค่าการอุ้มน้ำ คุณสมบัติในการบวม การแลกเปลี่ยนสารมีประจุ สูงกว่าค่าที่ได้จากเซลลูโลส ปัจจัยดังกล่าวทำให้เส้นใยมะเฟืองมีความสามารถในการดูดซับกลูโคส และลดการทำงานของเอนไซม์อะไมเลส จึงน่าจะช่วยคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้

งานวิจัยดังกล่าวจึงแนะนำให้ใช้เส้นใยจากผลมะเฟืองเป็นสารพลังงานต่ำที่ทำให้ อิ่มเร็ว ใช้กินโดยตรงหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ได้

จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักให้เลือกกินมะเฟืองผลไม้อุดมค่าชนิดนี้
คนที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วก็น่าจะเพิ่มคุณค่าของมะเฟืองเป็นรายการผลไม้ประจำวันได้เพราะมะเฟืองให้ผลตลอดปี

ข้อมูลสื่อ
ชื่อไฟล์: 366-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 366
เดือน/ปี: มกราคม 2552
คอลัมน์: บทความพิเศษ
นักเขียนหมอชาวบ้าน: รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ
http://www.doctor.or.th/article/detail/8866

No comments:

Post a Comment