Saturday, July 26, 2014

ทานอาหารแบบไหน ให้ถูกหลักอายุรเวท



          การกินอาหารในมุมมองของอายุรเวท ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ วันนี้จะมาขยายความเรื่องนี้ให้ครบถ้วนขึ้น และเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น ผู้เขียนขอกล่าวถึงข้อควรปฏิบัติกว้าง ๆ ในการกินอาหารตามองค์ความรู้อายุรเวทเป็นหัวข้อย่อย ๆ ก็แล้วกันนะครับ


ไม่ควรกินอาหารในขณะโกรธ หงุดหงิด โศกเศร้า เสียใจ หรือมีอารมณ์ผิดปกติต่าง ๆ

          เพราะอารมณ์หรือจิตใจที่แปรปรวน ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ดี (หรือเรียกในทางอายุรเวทว่าไฟย่อยอาหารอ่อนกำลัง) ทำให้อาหารที่เรากินเข้าไปถูกย่อยไม่เต็มที่ ร่างกายก็จะไม่ได้รีบสารอาหารอย่างเหมาะสม

          นอกจากนี้ สารอาหารที่ถูกย่อยไม่เต็มที่และถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะไปสะสมและอุดตัน ช่องทางการไหลเวียนในระบบต่าง ๆ ทำให้เกิดความเจ็บป่วยตามมา


ไม่ควรกินอาหารทันทีหลังจากออกกำลังกาย หรือทำงานที่ต้องใช้พลังทางร่างกาย

          เนื่องจากหลังจากออกกำลังกาย ร่างกายจะยังเหน็ดเหนื่อยและไฟย่อยอาหารจะยังไม่คึกคัก (เนื่องจากพลังของร่างกายถูกส่งไปตามแขนขาเพื่อการใช้งาน) หากกินอาหารทันทีหลังจากออกกำลังกายจะทำให้อาหารถูกย่อยไม่เต็มที่

          ดังนั้น จึงควรรอให้ร่างกายปรับตัวสู่สภาพปกติก่อน เช่น รอจนหายเหนื่อยและลมหายใจเป็นปกติก่อน จึงค่อยกินอาหาร

          หลักการนี้ยังรวมถึงไม่ควรออกกำลังกายและไม่ควรทำงานที่ต้องใช้แรงกายหรือพลังความคิดหลังจากกินอาหารเสร็จด้วย เพราะร่างกายต้องใช้พลังในการย่อยอาหาร การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ทันทีหลังกินอาหาร ย่อมส่งผลให้อาหรถูกย่อยไม่เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียด หรือปวดท้องได้ นอกจากนี้ ไม่ควรอาบน้ำทันที หลังจากกินอาหารเสร็จใหม่ ๆ เช่นกัน ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายแล้วจึงค่อยกินอาหาร หรืออย่างน้อยก็ล้างมือ ล้างหน้า และล้างเท้า ก่อนกินอาหาร

          หลักการข้อนี้ อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องของสุขอนามัยทั่วไป แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า หากเราล้างมือ ล้างหน้า ล้างตา และล้างเท้าก่อนกินอาหาร จะมีผลต่อจิตใจของเราด้วยคือ ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น

          หรืออาจมองอีกแง่หนึ่งว่า โดยทั่วไปก่อนจะลงมือกินอาหาร เรามักทำกิจกรรมหรือทำอะไรมาก่อน ใจเราอาจยังเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งหรือกิจที่ทำนั้น เท่ากับว่าเราพะวงอยู่กับสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นอดีต การล้างหน้าล้างตา หรืออาบน้ำชำระร่างกายจะเป็นเสมือนช่วงเปลี่ยนผ่านให้เราจัดจิตปรับใจปล่อย วางจากอดีตมาสู่ภาวะปัจจุบันที่กำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือการกินอาหารซึ่งเป็นต้นธารของพละกำลังทั้งทางร่างกายและจิตใจ

          พูดง่าย ๆ คือเป็นการเตรียมกายใจให้พร้อมก่อนลงมือกินอาหาร

          นอกจากนี้ อายุรเวทยังกล่าวว่าการอาบน้ำมีส่วนช่วยกระตุ้นหรือบำรุงไฟย่อยอาหารได้


ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ ระหว่างกินอาหาร

          ระหว่างกินอาหาร ร่างกายต้องใช้พลังในการเคี้ยว กลืน ไปกระทั่งถึงการย่อยอาหาร หากเราทำกิจกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ คุยโทรศัพท์ ตอบเฟซบุ๊ก หรือเล่นไลน์ไปด้วยระหว่างกินอาหร พลังที่ควรจะถูกใช้กับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหารย่อมกระจัด กระจายไปกับกิจกรรมเหล่านั้น ส่งผลให้อาหารถูกย่อยไม่เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น

          หรือถ้ามองในแง่จิตใจ ก็อาจอธิบายได้ว่า ขณะกินอาหาร เราควรจดจ่อและมีสติและสมาธิกับการกินอาหารซึ่งถือว่าเป็นปัจจุบันขณะ หรือเป็นชีวิตทั้งชีวิตของเราในห้วงเวลานั้น การ ทำกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะกินอาหาร ย่อมทำให้เราสูญเสียความจดจ่อกับปัจจุบันแห่งการกินอาหารไป พูดอีกอย่างว่า ขณะกินอาหารพึงจดจ่อใส่ใจกับการกิน

          นอกจากนี้ การกินอาหารพร้อมกับทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วย ย่อมทำให้เราไม่ได้สัมผัสกับเนียนเนื้อไออวล และรสชาติอาหารไปอย่างน่าเสียดาย

เวลากินอาหารควรเคี้ยวให้ละเอียด

          การย่อยอาหารนั้นกล่าวได้ว่าเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ภายในปากแล้ว การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดย่อมทำให้อาหารถูกย่อยในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะทำให้กระเพาะไม่ต้องทำงานหนัก หรือกล่าวอีกอย่างว่าช่วยแบ่งเบาภาระของกระเพาะ ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารสามารถย่อยอาหารได้ง่าย และเต็มที่ขึ้น

          นอกจากนั้น การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดยังทำให้เราจดจ่ออยู่กับการเคี้ยว ได้รู้สึกถึงทุกมิติของอาหารที่กิน หรือที่ชาวพุทธถือเป็นข้อพึงปฏิบัติให้มีพิจารณาว่า เรากินอาหารเพียงเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ได้บริโภคเพื่อตอบสนองกิเลสและความอยากต่าง ๆ

          ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลักและข้อควรปฏิบัติในการกินอาหารตามมุมมองของอายุรเวทครับ

เวลากินอาหารควรนั่งกิน ไม่ควรกินในอิริยาบถยืน เดิน หรือนอน

          เหตุผลหลักที่มีคำแนะนำให้กินอาหารในท่านั่งน่าจะเป็นเพราะร่างกายอยู่ในท่วงท่าที่สบายพอเหมาะ
 
          การยืนหรือเดินไปพร้อมกับกินอาหาร (อย่างในสังคมตะวันตกหรือแม้แต่สังคมไทยยุคดิจิตอลนี้) ทำให้ร่างกายต้องเกร็ง (ถ้าเป็นท่ายืน) หรือต้องใช้กำลัง (ในกรณีของการเดิน) ส่งผลให้พลังซึ่งควรจะรวมศูนย์อยู่ที่การกินและการย่อยอาหารถูกกระจายออกไป อาจทำให้อาหารถูกย่อยไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของเรา

          นอกจากนี้ การที่เราเดินไปพร้อมกับกินอาหารไปด้วย แสดงว่าเราอยู่ในภาวะที่เร่งรีบถึงขนาดไม่สามารถหยุดและนั่งลงเพื่อกินอาหาร อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ไหนเลยเราจะได้สัมผัสถึงเนียนเนื้อ สูดดม และรู้สึกถึงรสชาติของอาหารทุก ๆ คำที่ล่วงล้ำผ่านปากสู่ลำคลองไปยังกระเพาะ

          สำหรับท่านอนนั้น เราท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นท่วงท่าของการพักผ่อน เวลาอยู่ในท่านอน กระเพาะและลำไส้รวมถึงกลไกในการย่อยอาหารทั้งหมดมีแนวโน้มที่สงบหรือทำงาน น้อยลง ย่อมส่งผลให้อาหารที่กิน (ในท่านอน) ถูกย่อยไม่ดี ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน


ควร (นั่ง) กินในสถานที่ที่สงบ ไม่อึกทึกครึกโครม สะอาด มีแสงสว่างพอเหมาะอากาศถ่ายเทดี และมีบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกอยากอาหาร

          แน่นอนว่าเวลากินอาหาร เราใช้ลิ้นเป็นประสาทสัมผัสหลักในการรับรู้รสชาติอาหาร แต่ สังเกตไหมครับว่า ถ้าตามองเห็นอาหารร้อน ๆ มีควันลอยกรุ่น หรือจมูกสูดอวลกลิ่นของอาหาร และหูได้ยินเสียงพูดคุยที่รื่นหู เราจะรู้สึกว่าอาหารมื้อนั้นเอร็ดอร่อยขึ้นทันตาเห็น หรือเรารู้สึกน้ำลายสอและอยากกินอาหารก่อนที่อาหารจะถูกเสิร์ฟด้วยซ้ำ
นั่นย่อมหมายถึงว่านอกจากลิ้นแล้ว ประสาทรับรู้อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นตา จมูก หรือหู ก็มีบทบาทสำคัญต่อการกินอาหารเช่นกัน

          ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน บั่นทอนการตระหนักในคุณค่าของการกินอาหารภายใต้บรรยากาศที่เหมาะสมในช่วงวัน หยุดสุดสัปดาห์ลองหาโอกาสทำบรรยากาศที่บ้านให้น่ารื่นรมย์ในการกินอาหารดูสิ ครับ

อาหารควรถูกปรุงและเสิร์ฟด้วยความรัก และความใส่ใจ

          อาหารที่ผู้ปรุงทำด้วยความรักความใส่ใจ ทั้งต่อการปรุงอาหารและต่อคนที่จะกินอาหาร ย่อมมากด้วยคุณภาพและคุณค่าของอาหารจากวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่ตั้งใจ เลือกสรร และรสชาติของอาหารที่ปรุงด้วยใจทั้งใจ

          รุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นแพทย์แผนไทยมีพื้นเพอยู่ที่อยุธยา เล่าให้ผมฟังว่า ทุกครั้งที่กลับบ้านที่อยุธยา คุณยายของเธอมักทำอาหารและขนมรสชาติกลมกล่อมให้ทาน ผมเดาว่านอกจากเรื่องของเสน่ห์ปลายจวักที่ถูกถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรมไทยดั้ง เดิมแล้ว สาเหตุอีกอย่างที่ทำให้อาหารและขนมฝีมือคุณยายของเธอรสชาติล้ำเลิศ น่าจะเป็นเพราะความรักความตั้งใจในการปรุงอาหารคาวหวานให้ลูกหลานได้ทานกัน ด้วย

          ความเป็นจริงมีอยู่ว่า ครอบครัวในสังคมปัจจุบันกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวเสียส่วนใหญ่ แถมยังใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้าน การปรุงอาหารกินกันเองด้วย ความรักความใส่ใจจึงอาจทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้น่าจะหากาสและเวลาที่คนในครอบครัวได้ทำอาหารกินกันเองในวันหยุด บ้าง

          ในคัมภีร์อายุรเวทยังพูดถึงตัวอาหารเองด้วยว่าอาหารที่พึงกินควรเป็นอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ ๆ และทำให้สุก นอกจากนี้ อาหารควรมีรสชาติดีและย่อยง่าย และควรกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายด้วย ไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งตรงนี้คงต้องสัมพันธ์กับเจ้าเรือนและไฟธาตุหรือพลังในการย่อยอาหารในแต่ละช่วงของเราด้วย

          ทั้งหมดนี้คือข้อควรปฏิบัติหรือวิถีในการกินอาหารตามหลักอายุรเวทอย่างคร่าว ๆ

          อย่างไรก็ตาม คำว่า "วิถีปฏิบัติ" หมายถึง แนวทางที่พึงทำหรือพึงเป็น แต่หาใช่กฎเกณฑ์ตายตัวไม่ หากควรประยุกต์ดัดแปลงให้เหาะสมสอดคล้องกับสภาพร่างกายและจิตใจของเรา

          ที่สำคัญคือ ควรเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และมีชีวิตชีวา เนื่องเพราะคนเรามิใช่อาหารหรือบะหมี่สำเร็จรูป หรือเครื่องยนต์กลไกที่ไร้วิญญาณ


โดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ แพทย์แผนไทย (เคยไปศึกษาโยคะและอายุรเวทที่อินเดีย)
แหล่งที่มา  หมอชาวบ้าน, http://health.kapook.com/view92887.html

No comments:

Post a Comment