Thursday, May 30, 2013

7 วิธีสมัยใหม่เลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจในตนเอง




1.ปล่อยให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง

พ่อแม่ชอบลืมไปว่าแท้จริงลูกของตัวเองเป็นใคร ปล่อยให้เขาได้เป็นตัวของตัวเองเถิด อย่าพยายามสร้างให้เขาเป็นแชมป์เทนนิสคนต่อไป หรือ เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดเอเอฟคนล่าสุดเลย เพราะนี่อาจเป็นความต้องการของพ่อแม่ หาใช่เส้นทางชีวิตที่จริงที่ลูกอยากจะเป็น และ นี่อาจทำลายความมั่นใจของเด็กได้

2.แสดงออกให้ชัดเจนว่าคุณรักลูกเสมอ

อย่าได้เผลอพูดกับลูกเพราะความโกรธว่าแม่จะไม่รักหนูอีกแล้วนะหากทำแบบนี้อีกเพราะสำหรับความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกนั้น ไม่ควรมีข้อสงสัยใด ๆ ไม่ว่าลูกจะผิดอย่างไร ไม่ควรนำมาเกี่ยวกับความรัก เรารักลูกเสมอท่องไว้นะค่ะ

3.ขอความเห็นจากลูก

บ่อยไปที่พ่อแม่ลืมไปว่าเด็ก ๆ เขาก็มีความคิดของตัวเอง มีทัศนะเป็นตัวของตัวเองในเรื่องต่าง ๆ หากถามลูก ๆ คุณว่าเขาเห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ บางทีคุณอาจได้เรียนรู้ใหม่ ๆ จากพวกเขาก็ได้ การถามความเห็นจากเด็กทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีค่า และ ช่วยส่งเสริมความมั่นใจให้กับเด็ก

4.มองลูกในแง่ดี

เพราะพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้หลักผู้ใหญ่เวลาเห็นลูกเล่นเพลิน ๆ อย่างสบายอารมณ์อยู่ ก็มักจะไม่สนใจ เพราะมีงานอื่น ๆ ต้องทำ เด็กเพลิน ๆ อยู่ก็ดีไม่กวนใจพ่อแม่ แต่พอเด็กงอแงขึ้นมา กลับใส่ใจทันที อาจจะเข้ามาดูแล หรือไม่ก็ดุด่า เปลี่ยนเป็นตรงกันข้ามดีกว่า เวลาที่เด็กกำลังเล่นเพลิน ๆ ก็ลองเลียบ ๆ เคียง ๆ เข้ามาสนใจไถ่ถาม หรือขอเล่นด้วย เพิ่มความสนุกให้กับเขา แต่เวลาที่เขางอแง เราเปลี่ยนเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ( แต่อย่าลืมแอบชำเลืองดูด้วยว่ามีอันตราย มีมดกัด ยุงกัดหรือเปล่า )

5.อย่าอิจฉา

การยกตัวอย่างว่า ครอบครัวอื่นเขาสนุกกว่าของเรา บ้านคนอื่นใหญ่โตกว่าเรา มีรถดีกว่า พฤติกรรมแบบนี้จะปลูกฝังความเป็นคนขี้อิจฉาริษยาในตัวเด็ก ๆ จงแสดงออกให้เห็นถึงความภูมิใจในสิ่งที่ครอบครัวเรามี แสดงออกให้เห็นเสมอว่า ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว มีค่ายิ่งกว่าวัตถุใด ๆ นี่จะทำให้ลูกมีความสุข และปลอดภัย มั่นใจในบ้าน ในครอบครัวของเราเอง

6.สอนให้เด็กเคารพตัวเอง

สอนให้เด็กรู้ขอบเขตที่ถูกต้อง เหมาะสมในการทำสิ่งต่าง ๆ อะไรทำได้เมื่ออยู่บ้าน แต่สิ่งเดียวกันอาจทำไม่ได้กับคนอื่น แสดงออกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ที่พึงปกป้อง เพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กปกป้องตนเองได้ยามเมื่ออยู่ลำพังโดยไม่มีพ่อแม่ดูแล

7.อย่าเจ้าบทบาท

เด็ก ๆ จำเป็นต้องได้รับรู้ และเรียนรู้ว่า ชีวิตมีด้านเลว เศร้า ทุกข์ และ ความยุ่งยากเกิดขึ้นเสมอ แต่ผู้ใหญ่แสดงออกจนเกินไปในยามทุกข์ยาก อย่าเจ้าน้ำตา อย่าคร่ำครวญ อย่าฟูมฟายกับปัญหาที่เกิดขึ้น

หากพ่อแม่แสดงออกอย่างน่าเวทนาต่อปัญหาที่เกิดขึ้น มันจะทำให้เด็กฝังใจว่าโลกนี้น่ากลัว สยดสยอง และเป็นที่ไม่น่าอยู่

เมื่อปัญหาทางใจเย็นลง แสดงออกอย่างสุขุม ค่อย ๆ แก้ปัญหา หาทางออกอย่างมีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ หากอยากจะฟูมฟาย คร่ำครวญ เพื่อผ่อนคลายความเครียดตนเอง ต้องอย่าให้ลูกเห็นเด็ดขาด แต่คุณก็รู้ไม่ใช่เหรอว่า น้ำตาไม่ได้แก้ปัญหาใจ มีแต่ปัญหามาปัญญามี อย่างนี้ซิจะสอนให้เด็กได้พัฒนาความสามารถในการเผชิญปัญหาชีวิต ซึ่งมีแน่ ปัญหาชีวิตหน่ะ

อยากให้พ่อแม่ตระหนักไว้เลยว่า ลูกเลี้ยงให้ได้ดั่งใจไม่มีในตำราใด ๆ คำแนะนำใด ๆ เป็นยาวิเศษครอบจักรวาลได้ ตัวอย่างเช่นพ่อแม่บางคนที่ดี เลิศเลอประเสริฐศรีทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ เลี้ยงลูกสุดชีวิต แต่แล้วผลลัพธ์กลับเป็นดังหวัง หรืออย่างเช่น พ่อขี้เหล้า ทะเลาะกับแม่ ทั้งทุบ ทั้งตี กันบ่อย ๆ เลี้ยงลูกแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แต่ลูกกลับเป็นมา  อภิชาติบุตร เป็นเด็กดี โตขึ้นมาประสบความสำเร็จ แถมกตัญญู ดูแลพ่อแม่เป็นอย่างดี เรื่องแบบนี้เป็นจริงได้เสมอ ( แต่ส่วนตัวแอบค้านอยู่ในใจนิด ๆ นะ)

พ่อแม่อาจจะถามว่าแล้วควรจะทำอย่างไรคำตอบก็ คือทำหน้าที่พ่อแม่อันเป็นหน้าที่ที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างเต็มความสามารถ แต่ก็อย่าลืมว่าเราก็มีหน้าที่ที่ต้องดูแลตัวเองด้วย เวลาขึ้นเครื่องบิน เจ้าหน้าที่จะสอนว่า หากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน หน้ากากออกซิเจนจะห้อยลงมา ให้ผู้ใหญ่สวมหน้ากากให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยสวมให้เด็ก เพราะอะไร เพราะหากผู้ใหญ่หมดสติ เด็กก็เลยเสียชีวิตตามด้วย เลยเสียชีวิตทั้งคู่ เพราะฉะนั้นดูแลลูกให้ดี แต่อย่าลืมดูแลตัวเอง พ่อแม่ดูแลกันและกันให้ดี พ่อแม่อบรมเลี้ยงดูบุตรหลานให้ดี รักวัวให้ผูก รักลูก..........จะดีหรือไม่คุณคิดเอง

ลองนำไปใช้กับเด็ก ๆ ที่บ้านกันดูนะค่ะ

               http://www.oknation.net/blog/print.php?id=602108



No comments:

Post a Comment