Monday, November 12, 2012

เคล็ดลับเอาชนะใจลูกวัยรุ่น



พ่อแม่ ที่มีลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่น มักไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของลูกน้อยที่กำลังพัฒนาเข้าสู่วัยรุ่น และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้พ่อแม่ทั้งมือเก๋าและมือใหม่จำนวนไม่น้อย เกิดความวิตกกังวลว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับลูกที่เลี้ยงมาตั้งแต่แบเบาะ

นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายถึงพฤติกรรมดังกล่าวให้ฟังว่า ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย และจิตใจ อาจเรียกได้ว่าเป็นวัยที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงสูงทั้งชายและหญิง เช่น เด็กชายอาจเริ่มมีหนวด เครา เสียงแตก มีสิว ส่วนเด็กหญิงก็เริ่มมีประจำเดือน ส่วนเรื่องอารมณ์วัยรุ่นจะใจร้อนขึ้น ต้องการมีบุคลิกเป็นตัวของตัวเอง สนใจตัวเองมากขึ้น และผู้ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กวัยรุ่นมากที่สุด คือ เพื่อน เพราะว่าเพื่อนคือคนที่จะทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่า มีความหมาย การทำตัวเองของวัยรุ่นให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

"เมื่อก่อนตอนลูกเด็กๆ พ่อแม่พูดอะไรลูกก็จะเชื่อหมด เพราะตอนที่ลูกยังเล็ก โลกของเขายังอยู่แต่ในบ้าน คนที่ทำให้รู้สึกว่าเขามีค่ามากที่สุดคือ พ่อแม่ คนที่จะทำให้รู้สึกว่าฉันมีตัวตนอยู่ในบ้านนั้นก็คือ พ่อแม่ พอเข้าสู่วัยรุ่นความคิด ความรู้สึกจะเปลี่ยนไป จากเดิมเชื่อว่าพ่อแม่รู้ทุกอย่าง ถูกทุกอย่าง ก็จะเปลี่ยนเป็นพ่อแม่ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ได้ถูกทุกเรื่อง พ่อแม่ไม่ทันสมัย เด็กวัยรุ่นเป็นช่วงที่ต้องการจะเป็นผู้ใหญ่ ต้องการเป็นคน ๆ หนึ่ง เป็นตัวของตัวเอง มีบุคลิก มีเอกลักษณ์ และคนที่จะบอกว่าฉันมีค่าตอนนี้ไม่ใช่พ่อแม่แล้ว แต่จะเป็นเพื่อน เรามักได้ยินวัยรุ่นชอบบอกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ พ่อแม่ไม่รู้เรื่องอะไร สมัยนี้เขาต้องทำอย่างนี้กันแล้ว"

ดังนั้นในการเลี้ยงดูลูก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะลูกโตขึ้นทุกวัน เด็กแต่ละช่วงวัยมีลักษณะเฉพาะต่างกัน การสื่อสารพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับลูกเปรียบเสมือนมีหน้าต่างบานหนึ่งอยู่ ระหว่างพ่อแม่กับลูก หน้าต่างบานนี้จะค่อย ๆ ปิดลงทีละน้อย ๆ ทุกวัน ตอนเด็ก ๆ หน้าต่างที่ใช้สื่อสารนี้จะเปิดกว้างมาก ลูกจะรู้สึกมีค่าเมื่อได้รับคำชมจากพ่อแม่ ซึ่งในวัยอนุบาล วัยประถมเขามีความคิดเห็นอะไรต่าง ๆ เขาก็อยากให้พ่อแม่รับรู้ สนใจเขาทุกเรื่อง แต่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยกลับไม่ใช้โอกาสนี้สร้างสัมพันธ์ที่ดี มักมุ่งแต่ทำงาน คิดว่าขอตั้งตัว สร้างฐานะให้ได้ก่อน ขอให้มีเงินก่อนแล้วค่อยมาคุยกันเรื่องลูก ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกมากนัก รู้เรื่องของลูกเป็นบางเรื่อง หน้าต่างความสัมพันธ์การสื่อสารก็ปิดแคบลงไปทุกวัน พอเข้าสู่วัยรุ่นหน้าต่างความสัมพันธ์นี้ก็จะปิดลงแทบจะสนิทหมดแล้ว เวลาที่เขาจะรับฟังสิ่งที่พ่อแม่อยากพูด อยากสอนได้หมดลงไปด้วย เขาได้ไปเปิดหน้าต่างใหม่อีกบานระหว่างตัวเขากับเพื่อน

"ลูกวัยรุ่นชอบจะไปไหนเป็นกลุ่ม คำชมของเพื่อนถือว่ามีอิทธิพลต่อตัวเด็กวัยรุ่นมาก ต่อการแต่งตัว การฟังเพลง ทรงผม และทำสีผม สมมติว่าวันนี้ลูกแต่งตัวออกไปนอกบ้าน แล้วพ่อแม่ชมว่า วันนี้แต่งตัวสวยนะ ลูกฟังก็อาจจะรู้สึกเฉย ๆ แต่ถ้าไปเจอเพื่อน แล้วเพื่อนชมว่าเสื้อเจ๋งมากเลย หัวใจแทบจะพองโต ถ้าหากตอนที่หน้าต่างการสื่อสารกับลูกยังเปิดอยู่พ่อแม่ไม่ใช้โอกาสในการ สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมและความไว้วางใจกับลูกก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เปรียบเสมือนเราปั้นดินเหนียว ตอนเขาเป็นเด็กเล็กก็เหมือนดินยังไม่แข็งตัว จะขึ้นรูปอะไรก็ได้ ไม่ยาก แต่พอดินเหนียวเริ่มแข็งตัวแล้วก็จบกัน หมดเวลาแล้วจะปั้นอย่างไรก็ยาก ไม่ทันแล้ว"

นอกจากนี้ หลักสำคัญที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจและตระหนักอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ต้องทำให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่รักเขา รู้สึกไว้ใจพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ตอนที่หน้าต่างบานนั้นยังเปิดกว้างอยู่ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่เล็กๆ พอโตมาก็จะต้องเหนื่อยกับการแก้ปัญหาที่เกิดจากการที่เขาไม่ได้รับการเตรียม ความพร้อม ถ้าตอนเล็กสามารถสร้างความไว้ใจกับลูกแล้วพอช่วงเข้าสู่วัยรุ่นงานของพ่อแม่ ก็จะไม่หนักมาก เพราะว่าสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ดี ลูกมีความไว้วางใจพ่อแม่ มีอะไรก็จะพูดคุยให้ฟัง เวลาไปเจอะเจอเพื่อนชักจูงไปในทางไม่ดีก็รู้จักปฏิเสธและกล้าที่จะปฏิเสธ เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เสียใจ เพราะเด็กมีความผูกพัน และแคร์ความรู้สึกพ่อแม่ และคิดว่าไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ

ทางที่ดี ควรทำความเข้าใจธรรมชาติในแต่ละช่วงวัยของลูก นั่นจะทำให้พ่อแม่กำหนดวิธีการปฏิบัติกับลูกอย่างถูกต้อง เพราะพ่อแม่ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันดูแลเด็กต่างช่วงวัยกันได้ ตัวอย่างเช่นวิธีปฏิบัติกับเด็กตอนอายุ 4 ขวบ มาใช้กับเด็กอายุ 16 ปี เพราะว่าเด็กอายุ 16 ปี เป็นวัยรุ่นแล้ว เขาต้องการเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเด็กโตถูกปฏิบัติเหมือนเด็กเล็กเขาจะไม่พอใจ รู้สึกว่า "พ่อแม่ไม่ให้เกียรติฉัน ไม่ไว้ใจฉัน" เปรียบเสมือนลูกนกที่โตแล้วต้องการจะฝึกบิน ถ้าแม่นก เป็นห่วงไม่ค่อยอยากให้ลูกบิน ให้อยู่แต่ในรังก็จะเกิดปัญหา เพราะถึงวันหนึ่งเขาก็ต้องบิน ต้องออกหากินเองให้ได้ ตรงรอยต่อช่วงที่ลูกกำลังจะบิน กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ตรงนี้ก็ดูแลยากนิดหนึ่ง และไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะเด็กแต่ละคนไม่ได้เริ่มต้นที่จุดเดียวกัน วิธีการต่างๆ ในการเลี้ยงดูก็จะแตกต่างกันไปในรายละเอียด

ทั้งนี้ นพ.ไกรสิทธิ์ ได้แนะวิธีการปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก ก่อนที่หน้าต่างความสัมพันธ์จะปิด ซึ่งมีแนวทางง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

1. เสริมสร้างให้เด็กมีความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง ใน ระดับจิตใต้สำนึก ความรู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตนเองนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนมีความ สุข และประสบความสำเร็จในชีวิต สามารถเผชิญและรับมือกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้ สามารถมองตนเอง ผู้อื่น และมองโลกในแง่ดีได้ พ่อแม่ต้องเตรียมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกให้แข็งแรง ก่อนที่เขาจะเข้าสู่วัยรุ่น วัยที่ลูกสนใจจะฟังเพื่อนมากกว่าพ่อแม่

2. พ่อแม่ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่า มีฉันอยู่ในบ้านนี้ ในบ้านนี้ฉันมีค่า วิธีการก็คือ ต้องให้เวลากัน มีเวลาแสดงความรัก ความห่วงใย ชื่นชมกัน ทำได้ทั้งทางคำพูด หรือ ภาษากาย การโอบกอด การชื่นชมผ่านทางสายตา หลีกเลี่ยงการตำหนิที่รุนแรงหรือพร่ำเพรื่อเกินกว่าเหตุ ไม่ใช่เจอหน้ากันทีไรเด็กก็รู้สึกแย่ ไม่รู้ว่าวันนี้จะถูกด่าเรื่องอะไรอีก รู้สึกไม่มีคุณค่า ต่อไปโตขึ้นการจะทำเรื่องอะไรไม่ดี ก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะสูญเสีย เพราะไม่มีอะไรดีอยู่แล้ว

3. เสริมสร้างความภาคภูมิใจในเด็ก คือ พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมต่างๆ ให้มาก สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ งานช่าง ฯลฯ ให้มากที่สุด เพื่อโอกาสที่จะได้เรียนรู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร ทำอะไรได้ดี พ่อแม่จะได้ส่งเสริมสนับสนุนได้ถูกทาง เด็กก็จะรู้สึกภาคภูมิใจตนเอง มีความสุขและโอกาสที่จะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ระหว่างที่เด็กฝึกฝน พัฒนา พ่อแม่ก็ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ ให้เกียรติเขา ให้โอกาสเด็กในการแสดงความคิดเห็น

"ถ้าพ่อแม่เริ่มสื่อสาร ใกล้ชิด ให้เวลามีกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ ก็จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง มีภูมิคุ้มกันที่ดี และสามารถรับมือกับปัญหาและสามารถผ่านความเสี่ยงในชีวิตต่างๆ ในช่วงวัยรุ่นไปได้อย่างราบรื่น โดยพ่อแม่ไม่ต้องเหนื่อยใจหรือทุกข์ใจมากนัก" นพ.ไกรสิทธิ์สรุปทิ้งท้าย

แหล่งที่มา  http://www.tinyzone.tv 


No comments:

Post a Comment