Monday, October 8, 2012

พัฒนาการทางด้านสังคมจิตวิทยาของวัยรุ่น


 

วัยรุ่น เป็นวัยช่วงต่อระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการ เปลี่ยนแปลงทางด้านการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย  ลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นหนุ่มสาว ขณะเดียวกันพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคมและจิตใจก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย  แต่เป็นไปในลักษณะที่ไม่ค่อยสอดคล้องหรือ เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความสับสน ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดประสบการณ์ ทำให้วัยรุ่นตัดสินใจกระทำหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นตามมาจากการกระทำของตน และช่วงวัยรุ่นถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ สังคม อารมณ์และพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

วัยรุ่น เป็นระยะของการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางด้านสรีระของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพัฒนาการบางอย่างได้ดำเนินการมาก่อนบ้างแล้วในช่วงระยะก่อนวัยรุ่นและกระบวนการพัฒนาการในด้านต่างๆ ยังมีการดำเนินการต่อไป ถึงแม้จะมีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายเต็มที่แล้ว  ขบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการต่างๆ โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านสังคมจิตวิทยาของวัยรุ่น มีลักษณะเฉพาะที่เราควรจะต้องคำนึงถึง คือ

1. ไม่มีการพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีที่สุดหรือมีแผนเฉพาะหรือเหมาะสมสำหรับวัยรุ่นทุกคน เพราะวัยรุ่นแต่ละคนในแต่ละชุมชน สังคม เชื้อชาติต่าง ๆ ก็มีความหลากหลาย แตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นทางด้านพื้นฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและค่านิยมต่าง ๆ

2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยา อารมณ์ และพัฒนาการในด้านต่างๆ ไม่สอดคล้องหรือไปด้วยกัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าในปัจจุบันนี้การเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย การเข้าสู่การเป็นหนุ่มสาว เร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่พัฒนาการทางด้านความคิดและการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลแบบผู้ใหญ่ต้องใช้ เวลา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยรุ่นช่วงปลาย ( อายุ 18-21 ปี ) หรือหลังจากนี้ จึงจะมีการพัฒนาการในด้านนี้ได้สมบูรณ์มีการคิดและการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ทำให้วัยรุ่นถูกมองจากภายนอกว่าเป็นผู้ใหญ่แต่การกระทำหรือการแสดงออกยัง เป็นแบบเด็กๆ อยู่

3. วัยรุ่นเป็นช่วงระยะเวลาที่ไม่มั่นคง มีความอ่อนไหวทางด้านจิตใจและอารมณ์ค่อนข้างมาก จนมีผู้ให้วัยรุ่นเป็นช่วงระยะเวลาที่เรียกว่า Normal Psychosis ถึงแม้จะมีผันผวนหรือมีความผิดปกติบ้างในบางโอกาส แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ก็สามารถแก้ไขปัญหาผ่านพ้นภาวะวิกฤตต่างๆ ในระยะวัยรุ่นไปได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ  ในการที่เราจะใช้หลักเกณฑ์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวในการที่จะบอกว่าเด็กเข้าสู่วัยรุ่นแล้วนั้น บางครั้งก็อาจจะไม่ถูกต้องเหมาะสมทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เราใช้อายุเป็นตัวกำหนด แต่ในปัจจุบันก็จะเห็นว่าเด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าเดิมโดยเฉพาะ เด็กผู้หญิงและมีพฤติกรรมทางเพศเร็วขึ้น จากการศึกษานักศึกษาชายไทยในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคพบว่าเคยมีเพศสัมพันธ์ ถึงร้อยละ 33-68.5 และนักศึกษาหญิงเคยมีเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 4.2-25.4 (4) หรือใช้การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว ก็คงจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะเด็กยังมีพัฒนาทางด้านความคิด การตัดสินใจเป็นแบบเด็กอยู่ ฉะนั้นเราควรจะได้ใช้ตัวบ่งชี้หลายๆ อย่าง มาใช้ประกอบร่วมกัน ไม่ว่าอายุ การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว และพัฒนาการทางด้านต่างๆ เช่น อารมณ์ จิตใจ สังคม ฯลฯ ก็จะทำให้เราเข้าใจและประเมินบอกได้ว่าเขาเข้าสู่วัยรุ่นระยะไหนได้เหมาะสม ถูกต้องมากขึ้น เพราะในการให้การดูแลและให้คำปรึกษาแก่เด็กวัยรุ่นนั้นถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการปรับรูปแบบและวิธีการให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต การพัฒนาการในด้านต่างๆ รวมถึงวุฒิภาวะของวัยรุ่นด้วย

ปัจจุบัน สังคม สิ่งแวดล้อม สื่อต่างๆ เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาการทางด้านสังคมจิตวิทยาของวัยรุ่นอย่างมาก โดยเฉพาะสื่อ นักวิชาการบางคนให้ความสำคัญและมีบทบาทมากกว่ากลุ่มเพื่อน ที่เรียกว่า Super Peer สื่อเป็นตัวกลางสำคัญที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ปี ไม่สามารถแยกเรื่องจริงออกจากเรื่องสมมติได้  เด็กยังขาดเหตุผล ทำให้เขามีพฤติกรรมเลียนแบบ ระยะวัยรุ่นการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมต่างๆ มีความสำคัญมากกว่าการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอวัยวะต่างๆ เนื่องจากปัญหาของวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเจ็บป่วยและสาเหตุการตายของวัยรุ่นที่สำคัญ

โดย : นพ. วิโรจน์ อารีย์กุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า



No comments:

Post a Comment