Saturday, October 20, 2012

อยู่กับลูกวัยรุ่นอย่างไร



คุณพ่อ คุณแม่ ที่มีลูกวัยรุ่นคงมีน้อยครอบครัวนักที่พ่อแม่กับลูกวัยรุ่นจะไม่มีปัญหากัน การดูแลเลี้ยงลูกวัยรุ่นสมัยนี้ค่อนข้างต้องใช้ความละเอียดอ่อนมาก ซึ่งหลายครอบครัวคงเจอปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน ลองให้คุณพ่อ คุณแม่ มาลองเปิดใจคุยกันปัญหาจะคล้ายๆ กัน ซึ่งบางครอบครัวก็จะรู้สึกเครียดและไม่ รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร บางครอบครัวถึงกับต้องปรึกษาจิตแพทย์

ครอบครัวเป็นส่วนที่สำคัญมากเพราะ เทคนิคการอบรมเลี้ยงดูลูกในแต่ละครอบครัวก็ย่อมแตกต่างกันออกไป พ่อแม่ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อ่อนไหวง่าย บวกกับความต้องการเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องการเป็นอิสระ และ ต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ มากกว่าคนในครอบครัว

แนะคุณพ่อ คุณแม่ อยากเห็นลูกวัยรุ่นอนาคตสดใส ต้องให้ความสำคัญต่อครอบครัวด้วย โดยเฉพาะครอบครัวที่กำลังมีลูกเป็นวัยรุ่น การสร้างความเชื่อใจต่อวัยรุ่นและความต้องการของวัยรุ่น โดยการสื่อสารของพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นเป็นสิ่งที่หลายท่านมองข้ามไป โดยสื่อสารยังไงให้วัยรุ่นเข้าใจ การสื่อสารของพ่อแม่ ควรมีการกลั่นกรองให้เหมาะสม พูดด้วยน้ำเสียง สีหน้า ท่าทางที่เป็นการแสดงความรักความห่วงใยเสมอ ไม่ควรพูดจาประชดประชัน เปรียบเทียบ ใช้อารมณ์หรือพูดซ้ำซากในสิ่งที่ผ่านมา ควรพูดกับลูกในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน หากมีอารมณ์โกรธควรรู้จักควบคุมอารมณ์ และหากทำไม่ได้ควรเดินหนีไปจากสถานการณ์ก่อน

พูดตรงไปตรงมา บอกความต้องการที่เราอยากให้ลูกทำให้ชัดเจน ด้วยท่าทีที่นุ่มนวล เห็นความสำคัญของลูก ทำให้ลูกเกิดกำลังใจ และเป็นแรงผลักดันให้ลูกเกิดความมั่นใจ และรู้สึกว่าตนมีคุณค่า
 
สิ่งที่พ่อแม่ควรต้องทำ เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดก่อน รับฟังจนจบด้วยท่าทีที่สนใจ ระหว่างลูกพูดไม่ควรด่วนสรุป ตัดสินเสนอแนะวิพากษ์ วิจารณ์ ออกความคิดเห็นหรือสั่งการ ควรเครารพในความคิดเห็นของลูก แต่รอโอกาสสั่งสอนหรือตักเตือนโดยสอดแทรกตามสถานการณ์ที่พาไป และทำให้ลูกรู้ว่า ทุกๆ คนมีความคิดเห็น หรือแต่ละคนอาจคิดไม่เหมือนกันหากชักจูงลูกควรอยู่ในพื้นฐานของการแสดงความคิดเห็นร่วมกันกับลูก ไม่ใช่ตัดสินชี้ขาดโดยพ่อแม่ฝ่ายเดียว
 
การสื่อสารลูกเป็นการทำความเข้าใจ บอกความต้องการกันและกัน จะช่วยลดการขัดแย้ง และแก้ปัญหาไม่ให้เกิดความรุนแรงภายในครอบครัว ทำให้ลูกเกิดการรับรู้ไปในตัวว่าเขาสามารถที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้โดยมีครอบครัวเป็นที่ให้คำปรึกษาอย่างดี
 
ประการต่อมาต้องมองว่าอนาคตของลูกก็คือของลูก พ่อแม่เป็นได้แค่คนเกื้อหนุน อนาคต และคอยชื่น ชมเมื่อลูกประสบความสำเร็จในเรื่องที่ลูกทำ มีอาชีพที่ลูกอยากเป็น มีความสุขที่ลูกต้องการ ต้องคิดอยู่เสมอว่าความสำเร็จ อาชีพ หรือ ความสุขที่พ่อแม่อยากมีจากลูก อาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการก็ได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ ต้องเริ่มถามตัวเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่า คำจำกัดความว่าอนาคตของลูกคืออะไร"
 
ประเด็นนี้จะสอดคล้องกับกระแสเรื่อง ความสำเร็จ ทางการศึกษาว่าทำอย่างไร ถึงจะประสบความสำเร็จในเชิงของอาชีพได้ และนอกจากนี้เด็กควรมีความสำเร็จในด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับคนรอบตัว นอกจากจะยืนด้วยลำแข็งตัวเองได้แล้ว ก็ยังสามารถหันกลับไปมองพ่อแม่ และยิ้มให้แก่กันด้วยความรู้สึกจริงใจ และมีความสุข มีเพื่อน ที่รู้สึกว่าทุกคนรักเขา และเขาเองก็รักผู้คนด้วย "คุณหมอย้ำว่า" ทุกเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกัน หากมีอาชีพที่ดี แต่ว่าครอบครัวเพื่อนฝูง ไม่รักเขาเลย หรือมีอาชีพไม่ดี แต่เป็น ความสุขของเขา ครอบครัวและเพื่อนฝูง ก็รับไม่ได้ เขาก็ไม่มีความสุขเหมือนกัน เพราะฉะนั้นประเด็น เรื่องอาชีพ และ เลือกเส้นทางอนาคตทางการศึกษาของลูก ต้องมองทางป้องกันและสิ่งที่จะตอบสนองแต่ละด้านอย่างเพียงพอด้วย"
 
" พ่อแม่มักจะมาหาหมอด้วยปัญหาที่ว่า ลูกวัยรุ่นดูแลยาก และมีความคิดว่าลูกคิดไม่เป็น ที่เป็นอย่างนี้เพราะพ่อแม่เห็น ภาพลูกวัยรุ่นที่นิยมทำตามกระแส ใส่เสื้อสายเดี่ยว เที่ยวกลางคืน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เหมือนไม่คิดถึงอนาคตที่ยาวไกล ฉะนั้นพ่อแม่จึง ต้องชี้นิ้วสั่งให้ลูกทำตามอย่างที่อยากให้ทำ ตรงนี้ทำให้ลูกเกิดการต่อต้าน เป็นปัญหาตามมา"  คุณหมอจึงเสนอให้พ่อแม่ใช้เวลาในการมองหาอนาคตร่วมกันกับลูกมากพอสมควร โดยพยายามให้เกียรติลูกในการเลือก ตัดสินใจ และถ้าลูกมีข้อมูล มีเหตุผลที่ดีกว่าในการบอกพ่อแม่ได้ว่าด้วยเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมจึงตัดสินใจอย่างนี้ พ่อแม่ก็ต้องรับฟัง แล้วหลังจากนั้นจึงมีการติดตามผลกันไปเป็นระยะๆ "ให้พ่อแม่คิดว่า การตัดสินใจเลือกเส้นทางของ อนาคตสำหรับวัยรุ่นบางคน ไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินถูกผิดได้ในเวลาสั้นๆ แต่การใช้เวลาในแต่ละช่วง แต่ละวัน ที่ผ่านไปว่า นั่นคือสิ่งที่ค่อยๆ สอนทั้งตัวลูกและตัวพ่อแม่ให้เข้าใจกันและกัน และมองเห็นอนาคตร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น" 

และพ่อแม่ต้องคำนึงถึงปัจจุบันของลูกด้วย เพราะปัจจุบันเป็นรากฐานที่สำคัญของอนาคต ไม่ว่าลูกจะเป็นคนเก่งหรือไม่ จะเป็นคนสำเร็จหรือไม่ พ่อแม่ยังคงให้ความรักเขา อำนาจความรักความผูกพันของพ่อแม่จะเหนี่ยวรั้งความเป็นวัยรุ่นลง ลดความรู้สึกฮึกเหิม ลดความรู้สึกอยากจะเกเรลง และกลับไปสู่ทิศทางที่มีอนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อยากให้พ่อแม่คำนึงอยู่ตลอดเวลาว่าการที่ลูกอาจจะหลงทางบ้างในช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่น ไม่ได้แปลว่าลูกจะล้มเหลวในชีวิตอย่างสิ้นเชิง ความสำเร็จเป็นของลูก ไม่ได้หมายความแค่การเลือก แต่รวมไปถึงว่าลูกมีความสุขในชีวิตด้วย 

องค์ประกอบที่สำคัญอีกเรื่องคือ ความฉลาดทางอารมณ์ เด็กต้องรู้และเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง และจัดการกับความรู้สึกของเขาได้ และสามารถเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น รวมทั้งปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ด้วย นี่คือความสุข และความสำเร็จ ของคนคนหนึ่ง " คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น หมายความว่า เขาสามารถจะดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างพอประมาณ ปรับตัวเข้ากับคนได้ ยิ้มแย้มกับคนในบ้านได้ ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม และคนอื่นๆได้ ซึ่งเขาจะมีความสุขและมี ความสำเร็จในชีวิต ดีเสียยิ่งกว่าคนที่มีอาชีพสูง มีเงินรวยๆเสียอีก เพราะความสุขกับความสำเร็จต้องไปด้วยกันเสมอ" โดยพ่อแม่ต้องยอมรับก่อนว่า สิ่งที่ลูกเลือกทำนั้นเป็นความสุขของลูก แล้วก็ต้องทำใจด้วยว่าพร้อมยินดีที่จะมีความสุข ชื่นชมกับสิ่งที่ลูกต้องการ

"วิธีแก้ไขไม่ยากคือ พ่อแม่ต้องเริ่มต้นคุยกับลูก ถ้าลูกกำลังกังวล สับสน หรือรู้สึกลูกคิดไม่เป็น พยายามเข้าใจลูก คุยด้วยเหตุผล ฟังลูกพูดให้จบ โดยไม่ใช้อารมณ์ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องใช้คำถามปลายเปิดให้ลูกคิด และช่วยหาทาง เลือกอื่นให้ลูก โดยบอกถึงผลของทางเลือกที่จะเกิดด้วย และเมื่อสิ่งที่ลูกเลือกไม่ได้ทำให้ชีวิตเลวร้าย ล้มเหลวจนเกินไป ต้องให้ลองดู เพราะเป็นสิ่งที่ลูกตัดสินใจ แต่เมื่อพลาด พ่อแม่ต้องคอยให้กำลังใจ ต้องยอมให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น ให้เด็กได้เรียนรู้ ด้วยตัวเอง"

โดย.....กนกอร พิพิธกุล
           กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 



No comments:

Post a Comment