Monday, September 10, 2012

วิธีการให้ลูกเลิกเล่นเกมส์


ใครก็คิดว่าวิธีที่ง่ายที่สุดในการหยุดเล่นเกมคือเลิกเล่นเกม ยิ่งพ่อแม่จะบังคับซะอย่าง เดี๋ยวลูกก็ต้องเลิกเล่นจนได้
 
แต่จริงๆ แล้วมันไม่ง่ายอย่างนั้น  เช่นเดียวกับการเลิกบุหรี่ คุณลองแนะนำคนสูบบุหรี่ให้โยนบุหรี่ทิ้ง จะได้ไม่ต้องสูบบุหรี่
 
มันไม่ง่ายนักที่เขาจะทำตามได้ทันที ความจริงแล้ว ทุกคนรู้ว่าการติดอะไรบางอย่างมากไปนั้นไม่ดี

บางคนสามารถเลิกได้ทันที แต่บางคนต้องมีขั้นตอน มีวิธีการต่างๆ การเลิกเล่นเกมก็เช่นกันต้องมีวิธีการดังต่อไปนี้


เริ่มจากการจัดตารางเวลาที่เล่นเกมว่าจะเริ่มเล่นเมื่อใด และจะเลิกเมื่อใด 
 
ให้จดบันทึกเวลาที่เริ่มเล่นและเวลาที่เลิก แต่ยากที่สุดคือการจดบันทึกเวลาที่เลิกเล่นเกมนั่นเอง
การทำดังกล่าวนับเป็นการเริ่มต้นที่ดี พ่อแม่อาจช่วยจดบันทึกให้ในครั้งแรกๆ และเริ่มพูดคุยถึงเวลาที่เล่นเกมว่าควรจะเป็นเท่าใด
 
ดังนั้นพ่อแม่คงต้องมีส่วนร่วมในการช่วยให้ลูกเล่นเกมน้อยลง ก่อนที่จะลงไปช่วย ควรหันมาสำรวจก่อนว่า คุณเองมีความคิดว่าจะจัดการกับลูกของตนอย่างไร บางคนจัดการโดยวิธีเด็ดขาดคือ เอ็ดตะโร ดุด่า ตี เพื่อให้เลิกเล่นเกมไปเลย แต่วิธีนี้ได้ผลไม่มากนัก

วิธีที่ดีคือ อย่าประกาศตัวเป็นศัตรูกับการเล่นเกมโดยตรง อย่างที่เคยบอกมาข้างต้น ค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยน ลูกจะรับได้และเข้าใจคุณ จงอดทนกับการต่อต้านอย่างรุนแรงที่คุณอาจได้รับจากการที่คุณเข้าไปปรับการ เล่นเกมของลูก
 
จงทำในสิ่งที่สมควรทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่าสำหรับลูก และเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัว

แรงต่อต้านเมื่อผู้เล่นเกมโดนห้ามเล่นหรือถูกบอกให้เล่นเกมลดลง
ทุกคนจะบอกว่ารู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ บังคับ ตนเองได้ ไม่ต้องให้พ่อแม่เข้ามายุ่ง
บอกว่าพ่อแม่เข้ามาขัดขวางความสำเร็จของตนกำลังจะชนะเกมนี้อยู่แล้ว
บอกว่าเห็นพ่อแม่เป็นศัตรูที่มากีดกันความสุข
บอกว่าพ่อแม่ไม่เคยเข้าใจตนเลย แค่นี้ก็ยังห้ามอีก
บอกว่าพ่อแม่ทำให้เสียสมาธิ แทนที่จะเล่นเกมให้เสร็จเร็วๆ ทำให้ต้องเล่นเกมนานขึ้น


กฎเหล็กการออนไลน์
 
ก่อนการเล่นเกมออนไลน์ พ่อแม่ควรตั้งกติกาในการเล่นไว้ก่อนดังนี้
 
กฎเหล็กของการออนไลน์ ก็คือ
 
ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวแก่ผู้อื่น
ห้าม ให้ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์อย่างเด็ดขาด ถ้ามีใครพยายามตีสนิทเกินไป หรือพูดจาไม่ดีหรือมีพิรุธ ให้จดชื่อของผู้นั้นไว้ เลิกติดต่อกับเขาทันที ส่งชื่อเขาไปยังเว็บมาสเตอร์ และบอกให้พ่อแม่ทราบ
ห้ามโทรศัพท์ถึงคนที่ไม่เคยรู้จักจริงๆ มาก่อนแม้ว่าจะได้พบเขาในโลกออนไลน์มานับสิบครั้งแล้วก็ตาม
ห้ามนัดพบกับผู้ที่เจอกันในโลกออนไลน์ ในสถานที่จริง โดยไม่ได้ปรึกษาพ่อแม่ก่อนโดยเด็ดขาด
อยู่ในโลกออนไลน์ได้ครั้งละไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง ในวันหยุด
 
กฎเหล็กนี้ โปรดท่องให้ขึ้นใจ แม้ว่าวัยรุ่นจะไม่ค่อยทำตามกฎก็ตาม แต่ขอให้ลูกท่องไว้และสำนึกอยู่เสมอว่าการคบหาสมาคมกันในโลกแห่งความเป็น จริงนั้นแตกต่างจากโลกออนไลน์

พ่อแม่ช่วยได้อย่างไร
 
พ่อแม่ควรหาความรู้เกี่ยวกับเกมออนไลน์ที่ลูกเล่นเข้าไป ร่วมอยู่ในโลกเกมออนไลน์ร่วมกับเขา โดยไม่รบกวนเขา หรือเข้าไปโดยมุ่งหวังจะจัดการให้เขาออกมาจากการออนไลน์ แต่ให้เขารู้ว่าครอบครัวยังยืนอยู่ข้างเขา แม้จะอยู่ในโลกแฟนตาซีก็ตาม
 
ใครที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง spykid-3 คงจะเข้าใจที่คุณตาของเด็กได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเกมด้วย

พ่อแม่ต้องค่อยๆ ชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของเกมที่เกิดขึ้น ให้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ในสถานที่ที่มองเห็นได้ง่าย จะได้รู้ว่าลูกๆ ของคุณออนไลน์ไปอยู่ที่ไหน ตั้งกฎที่น่าจะเป็นไปได้ เช่น ให้เล่นเกมออนไลน์ได้หลังจากการทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว เล่นได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในวันธรรมดา และครั้งละไม่เกิน 2-3 ชั่วโมงในวันหยุด ให้ลูกรู้ว่าสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ ผู้ปกครองบางคนกลัวว่าถ้าตั้งกฎแล้วจะไปขัดใจลูก ลูกจะยิ่งเป็นใหญ่ ขอบอกได้เลยว่าลูกหลายคนอยากจะให้มีกฎขึ้นมา เพื่อเขาจะได้บังคับตัวเองได้ และเพื่อให้รู้ว่าพ่อแม่สนใจเขา ใส่ใจเขา ไม่ใช่เขาไม่มีตัวตนอยู่ในบ้าน ฉันจะทำอะไรก็ไม่มีใครสนฉันอีกแล้ว ฉันเลยยิ่งทำอะไรออกนอกฎระเบียบไปใหญ่

ผมอยากจะให้พ่อแม่ได้อ่านข้อความของศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวันเพ็ญ บุญประกอบ ในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับเดือนมกราคม, มีนาคม พ.ศ. 2544 เรื่องการเลี้ยงดูลูกกับสุขภาพจิต โดยผมขออนุญาตคัดลอกย่อหน้าหนึ่งมาให้อ่านดังต่อไปนี้
 
เด็กที่ขาดการควบคุมตัวเองได้ง่ายจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง ฉะนั้นพ่อแม่จึงมีหน้าที่สอนลูกให้รู้จักควบคุมตนเองไปทีละน้อยเป็นขั้นตอนกว่าจะควบคุมยับยั้งตนเองได้ดีเมื่อโตขึ้น นั่นคือพ่อแม่จะต้องมีความหนักแน่น และมีอำนาจในตนเองเพียงพอที่จะหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของลูกได้

การ สร้างกรอบระเบียบที่ยืดหยุ่นเป็นวิธีการดูแลลูกที่ดีที่สุด และเป็นธรรมดาที่เด็กและวัยรุ่นจะพยายามออกนอกกรอบที่ตั้งไว้เสมอ ดังนั้นถ้ากรอบแข็งเกินไปลูกมักมีการโต้ตอบที่รุนแรง เขาอาจกลายเป็นคนเก็บกดไม่กล้าเสนอความคิดอะไร หรืออาจจะออกไปแสดงความ ก้าวร้าวนอกบ้านก็ได้ ถ้ากรอบที่ตั้งไว้หย่อนเกินไป เขาจะไม่รู้จักการบังคับตนให้อยู่ในกรอบ เวลาอยู่ในสังคมภายนอกจะเอาแต่ใจตัวเอง แต่การจะกำหนดว่ากรอบที่ดีควรยืดหยุ่นแค่ไหนนั้นไม่ง่ายนัก เพราะแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกัน ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวนั้นๆ ควรช่วยกันสร้างกรอบที่เหมาะสมขึ้นมา

จะเห็นว่าการใช้เวลาในโลกออ นไลน์ หรือโลกแฟนตาซี ลูกจะสนุกมากที่ได้บังคับตัวละคร นอกเหนือจากที่เคยโดนบังคับให้ทำโน่นทำนี่ในโลกแห่งความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกต้องพบจริงๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นพ่อแม่ควรหากิจกรรมต่างๆ ให้ลูกทำแทนการเล่นเกม เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ความสนุกที่แท้จริงมากกว่า ไม่ว่าจะไปถีบจักรยาน ว่ายน้ำ เล่นดนตรี เตะฟุตบอล เล่นเทควันโด หรือเดินทางท่องเที่ยวในโลกแฟนตาซีเสียอีก ในไม่ช้าลูกจะพบว่ามีความสุขกับโลกแห่งความจริงมากกว่า

สังคมในปัจจุบันกลายเป็นสังคมที่มีสิ่งเร้าอยู่ตลอดเวลา มีโฆษณาให้ทำโน่นทำนี่ไม่มีหยุด จนแทบจะหาที่พักผ่อนหย่อนใจจริงๆ ไม่พบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กหลายคนในปัจจุบันมีความอดทนต่ำ ความอดกลั้นน้อย มักมีการแสดงออกเพื่อให้ตัวเองเด่นขึ้นมา โดยไม่แยแสผู้อื่น เพื่อตนจะได้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ถึงกระนั้นก็ตามเด็กยังต้องการความอบอุ่นจากครอบครัวต้องการที่ที่สามารถ คุ้มครองตนเองให้รู้สึกปลอดภัย หรือสามารถกลับมาได้เมื่อตนเองหมดทางไปแล้ว และยังต้องการความเข้าใจจากครอบครัวว่า ในวัยของเขาขณะนี้เขาต้องการอะไร เช่น เขาอายุ 14 ปีแล้ว ไม่ใช่ยังเลี้ยงแบบ 7 ขวบอยู่ นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกเหมือนไม่ต้องการให้ใครบังคับ แต่ก็อยากรู้ว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง ทำได้เมื่อใด เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังคมหมู่มาก

ที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องไม่ ใช้เกมเป็นตัวที่ทำให้ลูกสงบไม่มารบกวน มีพ่อแม่หลายคนที่พลอยยินดีไปกับลูกที่นั่งเล่นเกม เพราะจะได้ไม่มากวนใจ หรือเวลาไปไหนกลัวลูกจะรอนาน ก็ซื้อเกมบอย (Gameboy) ให้เล่น หรือกลัวลูกเหงาเวลานั่งรอพ่อแม่ไปรับที่โรงเรียน ก็ให้ไปนั่งรอในร้านเล่นเกม แทนที่จะให้นั่งรอหรือวิ่งเล่นกับเพื่อนในโรงเรียน หรือซื้อเกมบอยให้ได้โดยกลัวว่าลูกจะไม่มีเล่นเหมือนลูกคนอื่น ขนาดเด็ก 3 ขวบบางคน พ่อแม่ยังซื้อเกมบอยให้ลูกเล่น เพราะเห็นว่าญาติๆ เขามีจึงซื้อให้เล่นบ้าง ให้เล่นน่ะง่ายแต่พอจะให้เลิกนี่สิยากกว่า ดังนั้นอย่าพยายามเอาเกมเข้ามาเพื่อให้ลูกอยู่นิ่ง หรือให้ลูกไม่น้อยหน้าคนอื่น ให้เกมห่างไกลจากลูกได้เป็นดีที่สุด

การมีวินัยในบ้าน การร่างกฎกติกาในบ้านเป็นสิ่งสำคัญ การฝึกวินัยกันตั้งแต่เล็กๆ จะช่วยได้ แม้เด็กโตก็ยังต้องฝึกต่อให้มีวินัยในตนเอง เด็กที่มีวินัยจะรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง เพราะทำอะไรก็มักประสบผลสำเร็จ ดังนั้นจงช่วยกันสร้างระเบียบวินัยให้แก่ลูกเถิดครับ

วิธีช่วยเหลือลูกที่ติดเกม
 
เริ่ม จดตารางการเล่นเกมของลูก วัน..................วันที่..............เริ่มเล่นเวลา................. เลิกเล่นเวลา...............รวมเวลา............ชั่วโมง.............นาที
แสดงตารางเวลาการเล่นเกมให้ลูกเห็นเวลาที่ลูกนั่งเล่นเกม
จัดทำข้อตกลงในการเล่นเกมกับลูกว่า ในวันธรรมดาควรเล่นได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง วันหยุดควรเล่นได้ไม่เกินวันละ 2-3 ชั่วโมง
คุยกับลูกเรื่องกำหนดเวลาเล่นเกมโดยไม่ใช้อารมณ์นำ แต่ใช้เหตุและผลมาคุย แม้ว่าเขาอาจจะไม่ค่อยรับฟังก็ตาม
ให้เวลากับลูกของคุณให้มากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น พาไปเดินเล่นสวนสาธารณะร่วมกันไปออกกำลังกายร่วมกัน
หาหนังสือนิยาย หนังสือการ์ตูนสนุกๆให้ลูกอ่าน
เบี่ยงเบนความสนใจ โดยหากิจกรรมอื่นเข้ามาทดแทน เช่น เล่นเกมหมากกระดานแทน โดยคุณเข้าร่วมเล่นกับลูกด้วย
ให้ พี่น้องเล่นเกมอื่นๆ ร่วมกัน แทนที่ต่างคนต่างจะเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีการสื่อสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะเวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มักจะต่างคนต่างเล่นแล้วพยายามจะให้ตนเองเด่นที่สุดตลอด
เมื่อถึงเวลาให้ลูกเลิกเล่นเกม พ่อแม่ก็ต้องใจแข็ง ถึงบังคับก็ต้องทำกัน
มานั่งพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความสุขุมและอารมณ์ชื่นบาน โดยไม่นั่งโทษตัวเอง หรือลูกหรือสังคมว่าทำไมลูกฉันถึงติดเกมขนาดนี้ ฉันไม่ดีรึเปล่า ลูกจึงติดเกมมากกว่าติดอย่างอื่น
ตั้งใจว่าจะทำทุกอย่าง ให้ดีที่สุด เพื่อลูกและครอบครัว และเข้าใจว่าการที่ลูกติดเกมนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายน่ารังเกียจ ทนไม่ได้ ให้คิดเสียว่า ยังมีทางแก้ไขได้
ตั้งใจให้ดีก่อนว่า การช่วยเหลือลูกไม่ให้ติดเกมนั้นไม่ง่าย ต้องใช้เวลาและความเข้าใจ แต่ทำได้
การช่วยเหลือลูกไม่ให้ติดเกม อาจมีระดับว่าลูกไม่เล่นเกมอีก หรือยังเล่นเกมอยู่บ้างแต่สามารถบังคับตนเองได้ เช่น รู้ว่าใกล้สอบก็เลิกเล่น

ถ้าคุณทำตามคำแนะนำแล้วแต่ยังไม่สามารถช่วยเหลือลูกของคุณได้ หรือคุณรู้สึกอ่อนอกอ่อนใจที่จะสู้กับลูก หรือลูกของคุณอยู่ในภาวะติดเกมมาก ขอให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหานี้ นำลูกไปพบจิตแพทย์ เพื่อช่วยดูแลปรึกษาและรักษา ซึ่งในการรักษากรณีที่มีอาการติดเกมและปัญหาด้านอารมณ์ไม่มากนักจิตแพทย์จะ ใช้วิธีจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด แต่หากลูกของคุณติดเกมมาก หรือมีปัญหาด้านอารมณ์ร่วมด้วยค่อนข้างมาก จิตแพทย์อาจจะพิจารณาใช้ยาเข้าร่วมรักษาด้วย I love you

อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ดีที่สุดคือ ความรัก ความเข้าใจของพ่อแม่และผู้ปกครอง ซึ่งได้ผลช้าแต่ได้ผลยั่งยืน
 
ผู้ปกครองหลายคนหลังจากที่อ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่าไม่ง่ายเลยที่จะทำตามคำแนะนำ ก่อนอื่นต้องเปิดใจให้กว้างเลยนะครับว่า เกมที่ลูกของคุณเล่นอยู่นั้น ผู้ผลิตเกมเขาได้ผลิตออกมาเพื่อให้โดนใจลูกๆ คุณ และสร้างเงื่อนไขต่างๆ ตลอดจนของรางวัลที่ได้รับในเกมก็น่าสนใจอย่างยิ่ง จนลูกคุณอดใจที่จะเล่นอย่างต่อเนื่องไม่ได้บางคนเล่นวันละ 10 ชั่วโมง เรียกว่านั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องออกไปมีกิจกรรมอื่นอีกเลย

เอาละครับ เริ่มสูดหายใจลึกๆ อีกครั้ง หลังยอมรับความจริงกันว่า เกมแต่ละเกมดึงดูดลูกคุณเหมือนมีแม่เหล็กทางใจดูดลูกคุณให้นั่งอยู่กับที่ ไปไหนไม่ได้ดังนั้น
 
ประการแรก คือ ใจเย็น เข้าใจเกม และยอมรับถึงอนุภาพของเกมให้ได้เสียก่อน อย่าคิดแต่ว่าจะเอาชนะการติดเกมของลูกคุณอย่างเดียว

ประการที่สอง คือ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้ลูกของคุณลดการเล่นเกมลงเหลือกี่ชั่วโมงต่อวัน ต้องทำใจให้ได้ว่าเกมอาจยังติดพันกับลูกคุณไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยคิดให้ได้ว่าจะให้ลูกเล่นเกมสัก 1-2 ชั่วโมงต่อวัน แต่ต้องทำการบ้านหรืองานบ้านให้เสร็จก่อน

ประการที่สาม เริ่ม ลุยครับ นำกระดาษ 1 แผ่น ปากกา 1 ด้าม มีรอยยิ้มสวยๆ ติดหน้าไปด้วย เดินไปหาลูกบอกว่าจะจดเวลาที่ลูกเริ่มเล่นเกมและเวลาที่เลิกเล่นเกม เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดตารางเวลาทำกิจกรรมกัน ระหว่างนั้นให้คุณยืนดูลูกเล่นเกมไปด้วยจะได้รู้ซึ้งว่าเกมนั้นสนุกขนาดไหน คุณเองอาจจะอยากยืนดูจนไม่อยากเดินไปไหนก็ได้ แถมอาจจะส่งเสียงเชียร์ด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นกิจกรรมร่วมกันอีกกิจกรรมหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าจุดมุ่งหมายคือลดการเล่นเกมลง เพื่อไม่ให้ลูกมีปัญหาในการนำเวลาที่มีไปอยู่ในโลกแฟนตาซีมากจนเกินไป เอาแค่พอท้วมๆ หรือถึงขนาดเลิกเล่นเกมไปเลยก็ดี

ประการที่สี่ คุณลองนึกดูซิครับว่า เวลาที่คุณจะให้ลูกเลิกเล่นเกมนั้น คุณจะให้ลูกทำอะไรแทนดี เอาง่ายๆ คือให้นึกดูว่าก่อนที่คุณจะซื้อคอมพิวเตอร์มาให้ลูกเล่นเกมจนติดนั้น ลูกของคุณเคยทำอะไรในช่วงนั้น หรือก่อนที่ลูกจะขอเงินคุณออกไปเล่นเกมนอกบ้านนั้น ลูกคุณทำอะไร ให้จดไว้ในกระดาษเป็นข้อๆ ทีนี้ก็ลองเขียนกิจกรรมใหม่ๆ ที่คุณอยากร่วมทำกับลูกหรืออยากให้ลูกทำ เช่น ทำความสะอาดบ้านร่วมกัน ดูวีซีดีร่วมกัน ให้ลูกทำการบ้าน ให้ลูกเล่นอะไรก็ได้ยกเว้นเกมคอมพิวเตอร์ โดยต้องคิดถึงความจริงว่า คุณอาจทำกิจกรรมกับลูกไม่ได้ตลอดเวลา ยกเว้นไปเดินห้างสรรพสินค้าให้เวลาหมดๆ ไป แต่ถ้าคุณเกิดติดธุระไม่อยู่บ้านใครจะคอยดูแลลูก

ประการที่ห้า ให้นึกดูว่าเมื่อลูกสามารถปรับตัวให้เล่นเกมได้น้อยลงแล้ว คุณจะให้รางวัลอะไรแก่ลูก แต่รางวัลนั้นต้องไม่มากจนเกินไป อาจเป็นแผ่นซีดีเพลง คำชม คำเยินยอ ทำกับข้าวอร่อยๆ ให้ลูกกินสักมื้อ หรือออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกันทั้งครอบครัว

ประการที่หก ถ้าคุณยังไม่ได้ลองทำแบบทดสอบว่าลูกของคุณคิดเกมอยู่ในขั้นไหน ขอให้ทำแบบทดสอบก่อน ถ้าหากว่าลูกของคุณถึงขนาดติดเกมมาก ไม่ใช่การเล่นเกมมากแล้ว อาจจะต้องตัดใจ พาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่อหาทางช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

ประการที่เจ็ด ค่อยๆ คุยกับคู่ชีวิตของคุณถึงวิธีที่จะพูดกับลูก ว่าจะพูดกับลูกอย่างไรดี ใครจะเป็นคนพูดเพราะพ่อแม่ควรพูดไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกันลูกจะได้รับข้อมูลและทำตามที่ได้ตกลงกันไว้

ประการที่แปด ให้คุณหาอัลบั้มลูกสมัยเด็กๆ ที่เคยมีความสุขร่วมกันมาเตรียมไว้ เพื่อจะได้มีอะไรเอาไว้คุยกับลูก

ช่วง เวลาที่ยากที่สุดสำหรับคุณเริ่มต้นขึ้นแล้วครับ เริ่มจากหาเวลาที่เหมาะสมที่คุณคิดว่าลูกและคุณพอจะมีเวลาคุยกันโดยไม่รีบ ร้อน ไม่ใช่อยู่ๆ คุณก็เดินไปหาลูกแล้ว พูด พูด พูด จากนั้นก็เดินจากไป โดยแต่ละครอบครัวเวลาช่วงนี้อาจไม่เหมือนกัน อาจเป็นช่วงเวลาที่ลูกคุณกำลังนั่งเล่นเกมอยู่
เอาละ พอได้จังหวะก็ชวนลูกมานั่งดูอัลบั้มรูปเก่าๆ ที่คุณจัดเตรียมไว้ เล่าเรื่องสนุกสนานในสมัยนั้นเพื่อให้รำลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่แสนจะอบอุ่นร่าเริง ได้สัมผัส กับมิตรภาพของพ่อแม่ ลูก พี่ๆ น้องๆ ในครอบครัวเป็นการสร้างความเป็นหนึ่งในครอบครัวอีกครั้ง ให้ลูกรู้สึกว่ายังมีคนรอบข้างที่พร้อมจะสนุกสนานไปกับเขา พร้อมที่จะช่วยเหลือได้ทุกเมื่อมิใช่มีแต่เกมเท่านั้นที่ให้ความสุขแก่เขา ได้


ที่เริ่มต้นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อลูกโตขึ้น เขาอาจจะรู้สึกแปลกแยกจากครอบครัว รู้สึกว่าตนไม่ใช่เด็กๆ แล้ว เริ่มไม่ผูกพันกับครอบครัวเท่าไหร่ ยกเว้นตอนขอเงินเป็นการเริ่มต้นด้วยบรรยากาศอันแสนอบอุ่น และเพิ่มความสมานฉันท์ในครอบครัว เพื่อที่จะได้พูดคุยกันอย่างสนิทใจหลังจากห่างเหินกันมานาน หลังจากดูรูปลูกในวัยเด็ก จึงเริ่มสอบถามถึงเหตุการณ์รอบตัวของลูกว่าชอบดูภาพยนตร์อะไรบ้าง ดาราคนไหนที่ชอบ โตขึ้นอยากเป็นแบบใคร อยากทำอาชีพอะไร หรืออยากดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ให้ถามลูกของคุณโดยไม่ต้องคาดคั้นใช้น้ำเสียงสบายๆ ใจของคุณก็ต้องรู้สึกสบายๆ ด้วย

คำตอบที่ได้มักจะแบ่งออกเป็น 2 คำตอบง่ายๆ คือ ยังไม่รู้ ยังไม่คิดว่าจะเป็นอะไรต่อ ฟังแล้วคุณก็อย่าเพิ่งตกใจนะครับ กับอีกคำตอบคือ อยากจะเป็นทหาร นักธุรกิจ ทำงานออฟฟิศ เป็นหมอ เป็นต้น ถ้าตอบแบบมีจุดหมายก็ง่ายขึ้นสำหรับการพูดคุยกับลูกต่อไป

ข้อสำคัญ อย่า เริ่มต้นด้วย
ลูกควรลดการเล่นเกมลง
ให้รู้หน้าที่ของตัวเองบ้างนะ
หยุดเล่นเดี๋ยวนี้นะ บ้านจะไม่เป็นบ้านอยู่แล้ว
 
เพราะคำพูดเหล่านี้เป็นคำตำหนิมากกว่าการขอความร่วมมือ

เมื่อลูกตอบว่าอยากจะเป็นอะไรต่อไปในอนาคต คุณก็ลองปรึกษากับลูกต่อว่า เอ! ถ้าต้องการเป็นนักธุรกิจนี่เขาต้องทำอย่างไรกันบ้างนะ ต้องเรียนอะไรกัน ต้องหาความรู้ความสามารถพิเศษอะไรบ้าง ต้องรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาอื่นๆ บ้าง และจะหาเวลาไปเพิ่มความรู้นั้นๆ ได้อย่างไร อย่าลืมเน้นเรื่องเวลานะครับ ว่าจะเอาเวลาส่วนไหนไปเพิ่มความสามารถพิเศษ ที่ไหนที่สอนทักษะวิชาชีพ เช่น ซ่อมคอมพิวเตอร์ ซ่อมรถ อาจจะติดต่อที่โรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร หรือวิทยาลัยสารพัดช่าง หรืออาจจะหาหนังสือต่างๆ มาอ่านเพิ่มเติม เป็นการสร้างกิจกรรมต่างๆ เข้ามาทดแทนการเล่นเกม ทำให้ดึงเวลาจากโลกแฟนตาซีมาอยู่ในโลกแห่งความจริงได้มากขึ้น

แต่ถ้าลูกคุณตอบว่า โตขึ้นยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรให้คุณลองปรึกษาลูกดูว่า วันเสาร์-อาทิตย์นี้จะทำอะไรร่วมกันดีนะ จะช่วยกันจัดบ้าน หรือจะไปเดินออกกำลังกายกันดี เพื่อดึงเวลาลูกออกจากการเล่นเกม

จากนั้นค่อยๆ ตะล่อมเข้ามาว่า ทางการแพทย์ประกาศมาแล้วว่า ไม่ควรเล่นเกมติดต่อกันเกิน 3 ชั่วโมง และคุณเห็นว่าน่าจะเอาเวลาไปทำกิจกรรมอื่นกันบ้างดีกว่า ในช่วงวันเรียนไม่ควรเล่นเกมเกิน 1 ชั่วโมง ควรจะต้องกลับมาถึงบ้านกี่โมง ลองปรึกษาพูดคุยกับลูก ทำตารางกิจกรรมร่วมกัน หรือตารางกิจกรรมที่ลูกอยากจะทำเป็นการปรับเวลาในการเล่นเกมของลูกให้ลดลง โดยให้อยู่เพียงสถานะผู้เล่นเกมคือ เล่นเกมเพื่อให้เกิดความสนุกสนานชั่วครั้งชั่วคราวเมื่อมีเวลาว่าง หลังจากทำการบ้านหรืองานบ้านเสร็จแล้ว แทนที่จะทุ่มเวลาเล่นเกมจนกลายเป็นผู้ติดเกม คือเล่นเกมจนมีพฤติกรรมที่ควบคุมตนเองไม่ได้ที่จะไม่เล่นเกม หรือไม่สามารถควบคุมเวลาในการเล่นเกมได้ จนกระทั่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งด้านการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว มีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย และซึมเศร้า

ถ้า คุณสามารถพูดคุยตกลงกับลูกได้ด้วยดี เท่ากับคุณได้ลูกกลับมาแล้วครึ่งหนึ่ง จงปลุกปลอบและให้กำลังใจตนเองต่อไปนะครับว่า คุณเดินมาถูกทางแล้วแต่อย่างที่ผมบอกให้ทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า ความยากลำบากเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เพราะด่านต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้ลูกของคุณรักษาตารางเวลาตามที่ได้ตกลงกันแล้ว ให้ปรึกษากับลูกว่า หากลูกของคุณสามารถลดเวลาในการเล่นเกมลงได้ ลูกอยากได้อะไรเป็นของรางวัลแต่มูลค่าต้องไม่มากนัก บางทีลูกของคุณอาจไม่อยากได้รางวัลอะไรเลย เพราะของรางวัลที่มีค่าที่สุดสำหรับลูกก็คือได้ทำกิจกรรมร่วมกับคุณนั่นเอง

ถึง อย่างไรก็ตาม ให้ลองเสนอของรางวัลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวช่วงปิดเทอมที่ลูกอยากไป เช่น ไปเที่ยวพัทยา หัวหิน ไปว่ายน้ำสุดสัปดาห์ด้วยกัน หรือซื้อแผ่นวีซีดี ซีดีเพลงที่เขาชอบ ที่สำคัญที่สุด คุณต้องระลึกไว้เสมอว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นเป็นของยาก แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ดังนั้นจะต้องใช้ความอดทน อดกลั้น และยิ้มสู้ไว้เสมอ อย่าระเบิดอารมณ์กับลูก ถ้าลูกของคุณยังทำไม่ได้สม่ำเสมอ ก็ต้องให้กำลังใจลูกต่อไปด้วยคำชมเชยเป็นระยะๆ พูดคุยสร้างความสนิทสนมกับลูกให้มากขึ้น

คุณอาจจำได้ว่าลูกคุณยังเล็กอายุสัก 4 ขวบ บางเวลาที่ลูกร้องไห้โยเย จะเอาอย่างนี้ จะเอาอย่างนั้น ทั้งปลอบ ทั้งขู่ก็ยังไม่หายโยเย แล้วคุณเอาน้ำแข็งให้ลูก ลูกได้น้ำแข็งก็เอาไปอมไม่โยเยอีก หรือเวลาที่จะให้ลูกเลิกขวดนม คุณเอาตุ๊กตาไปให้เขาเล่นแทน ลูกก็เล่นตุ๊กตาเพลินแทนที่จะเอาแต่ดูดขวดนม เรียกวิธีนี้ว่า การเบี่ยงเบนความสนใจและหาสิ่งอื่นเข้ามาทดแทน

ในโลกแห่งความจริง คุณอาจไม่มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกได้มากนัก คุณก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ของพี่น้องในครอบครัว มาช่วยกันดึงเอาเวลาของลูกคุณกลับมาจากโลกแห่งแฟนตาซีมาอยู่ในโลกแห่งความ จริงให้ได้ ถ้าคุณมีลูกคนเดียว ลูกอยู่บ้านคนเดียวเหงาๆ ไม่มีอะไรทำ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะเอื้อมมือไปเปิดคอมพิวเตอร์แน่นอน หรืออาจเปิดโทรทัศน์ดูในช่วงเย็นโดยไม่ได้ทำงานที่ควรจะทำ ดังนั้นการสร้างตารางเวลาและการสร้างระเบียบวินัยในการใช้เวลาให้กับลูกคุณ นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการทำให้ลูกไม่เล่นเกม แต่จุดสำคัญคือให้ลูกมีเวลาอยู่ในโลกแห่งความจริง ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กมีหน้าที่รับผิดชอบต้องทำ และใช้เวลาอย่างมีคุณค่า

จงบอกลูกของคุณว่า เมื่อกลับบ้านก่อนจะทำอย่างอื่น ต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือ เตรียมตัวกับบทเรียนวันต่อไปเสียก่อน โดยจัดลำดับการทำสิ่งต่างๆ ให้ดี อาจมีเวลาเล่นในสิ่งที่เขาชอบ แต่ต้องรักษาเวลาในแต่ละช่วงให้ได้ ถ้าลูกของคุณไม่ทำอะไรเลยนอกจากอ่านหนังสือเรียน ก็มีอาการน่าเป็นห่วงเช่นกัน
ร่วมมือกันวางแผนการใช้เวลาในแต่ละวัน สร้างตารางเวลากิจกรรมขึ้น ยิ้มให้กัน สร้างความผูกพันความรักที่ดีไว้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจของลูกคุณ

ที่มา : http://www.thaimental.com
          http://www.kusolsuksa.com
ภาพ :  http://www.zoneza.com 
           http://sanook.com
           เสื้อผ้าเด็ก

No comments:

Post a Comment